New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 5 ก.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.ค. นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาแคนาดา” พร้อมชี้ว่า ไต้หวัน - แคนาดา มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอันแนบแน่นระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเปิดการเจรจาเพื่อการลงนามใน “ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Promotion and Protection Agreement, FIPA)” เมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยหวังที่จะกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยรองปธน.ไล่ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ไต้หวันจะธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและสถานภาพในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ โดยคาดหวังที่จะยืนหยัดเคียงข้างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อร่วมเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่เกิดจากกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม
ในช่วงแรก รองปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความยินดีต้อนรับต่อการเดินทางมาเยือนของมิตรสหายจากแดนไกล ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันในรัฐสภาแบบไม่แบ่งแยกฝักฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมเสมอมา โดยไต้หวัน - แคนาดา ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน โดยพวกเราทั้งสองต่างตั้งอยู่ในตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รองปธน.ไล่ฯ จึงหวังที่จะสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคงในภูมิภาค ร่วมกับแคนาดาอย่างต่อเนื่องสืบไป
รองปธน.ไล่ฯ ชี้อีกว่า ไต้หวัน – แคนาดามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอันแนบแน่นระหว่างกัน รองปธน.ไล่ฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเปิดการเจรจาเพื่อลงนามใน “ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ” (FIPA) ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับการวางรากฐานธุรกิจของรัฐบาลแคนาดาในพื้นที่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกแล้ว ยังถือเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในภายภาคหน้าอีกด้วย
รองปธน.ไล่ฯ เห็นว่า แคนาดาเป็นประเทศสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ซึ่งแคนาดาจะทำหน้าที่เป็นประเทศเจ้าภาพหมุนเวียนในการประชุมสมัชชา CPTPP ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในปีหน้านี้ โดยไต้หวันได้ยื่นขออนุมัติเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความตกลง CPTPP เมื่อช่วงที่ผ่านมา จึงคาดหวังที่จะได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ภายใต้การสนับสนุนและความช่วยเหลือจากรัฐบาลและรัฐสภาแคนาดา นอกจากนี้ ในระหว่างการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในยุคหลังโควิด – 19 หากไต้หวันมีโอกาสได้เข้าร่วมใน CPTPP เชื่อว่าจะสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกรูปแบบใหม่ได้อย่างแน่นอน โดยไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับแคนาดา เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจโลก ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
ในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค รองปธน.ไล่ฯ เห็นว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เห็น “รายงานยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก” ที่รัฐบาลแคนาดาได้ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ซึ่งได้ระบุในเนื้อความว่า ไม่ควรใช้อาวุธในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าสันติภาพและเสถียรภาพ สอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของนานาประเทศในประชาคมโลก นอกจากนี้ รายงานผลสรุปของการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ชี้ว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน สอดคล้องกับเงื่อนไขการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก ไต้หวันในฐานะที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีนโดยตรง จะมุ่งธำรงรักษาสถานภาพเดิมด้านสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างเต็มที่ต่อไป
Ms. Melissa Lantsman สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นรองหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และหัวหน้าคณะตัวแทนที่เดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นของรองปธน.ไล่ฯ โดยสมาชิกคณะที่ร่วมเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ประกอบด้วยสมาชิกสภาจาก 3 พรรคการเมืองหลัก จึงจะเห็นได้ว่า เหล่าสมาชิกสภาแคนาดา ต่างให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งพวกเขาต่างรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้
Ms. Lantsman กล่าวด้วยว่า ไต้หวันและแคนาดา ต่างร่วมสร้างความสัมพันธ์ในเชิงลึก บนค่านิยมด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม อีกทั้งการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองฝ่าย ก็เป็นไปอย่างคึกคักและใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการประสานความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ และยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรประชาธิปไตยร่วมกัน โดย Ms. Lantsman หวังที่จะร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะการร่วมเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมที่นับวันยิ่งแผ่ขยายอิทธิพล และเป็นภัยต่อพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก
Ms. Lantsman ยังชี้อีกว่า คณะผู้แทนกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มสมาชิกสภาแคนาดากลุ่มที่ 2 ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในปีนี้ โดยเหล่าสมาชิกสภาต่างสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เช่น “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) “องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ” (ICAO) และ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) Mr. Michael Cooper สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในสมาชิกคณะตัวแทน ที่ประชาชนชาวไต้หวันรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ได้ทำการยื่นเสนอ “กรอบกฎหมายความสัมพันธ์ ระหว่างแคนาดา - ไต้หวัน” (Canada-Taiwan Relations Framework Act) ไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของภาคประชาชนระหว่างไต้หวันและแคนาดาอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน
Ms. Lantsman เห็นว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ คณะตัวแทนคาดหวังที่จะกระตุ้นให้มีการเปิดการเจรจาร่วมกัน เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันทรัพยากรทางธรรมชาติ และการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพระดับโลก พร้อมคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามใน “ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ” (FIPA) โดยเร็ววัน เชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งมีความรุดหน้ามากยิ่งขึ้น