New Southbound Policy Portal
ร้านขายยาซินหยางชุน หลังถูกลบเมคอัพไปแล้ว ทำให้เราได้เห็นภาพความรุ่งเรืองของเจียอี้เมื่อวันวาน
คลื่นทะเลสีน้ำเงินที่คล้ายกับสีของวาฬเคลื่อนพัดกระทบชายฝั่งเป็นระยะ หมู่บ้านชนพื้นเมืองที่มีสีสันสดใส ถูกสร้างขึ้นที่ด้านหน้าของภูเขาและตั้งอยู่ริมทะเล ยังมีโบสถ์ขนาดเล็กที่ตั้งหันหน้าไปทางทะเล สถานที่แห่งนี้คือเมืองคู่แฝดริมฝั่งทะเล หรือที่เรียกว่า ซวงปิน (雙濱) ซึ่งหมายถึง ตำบลฉางปิน (長濱) ในเมืองไถตง และตำบลเฟิงปิน (豐濱) ในเมืองฮัวเหลียน ดินแดนที่ถูกเปรียบเปรยว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลกว่าการเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ไม่ใช่เมืองที่มีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ความเงียบสงบและบรรยากาศที่เหมาะกับการพักผ่อน กลับดึงดูดผู้คนให้มาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า
เมืองเจียอี้ที่มีชื่อเดิมว่า “เถาเฉิง” ที่หมายถึงเมืองลูกท้อ และเมืองจูหลัว กำแพงเมืองที่ทำขึ้นด้วยไม้ของเจียอี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1704 หากแต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เหมยซาน ในปี ค.ศ. 1906 ทำให้ถนนหนทางของเจียอี้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 300 ปีต้องพังทลายลง ชาวญี่ปุ่นจึงได้เริ่มต้นแผนปฏิรูปเมืองเจียอี้ขึ้น ก่อนจะวางแผนและสร้างถนนภายในเมือง ให้มีลักษณะเป็นตารางหมากรุก ซึ่งในขณะนั้น ถนนเอ้อทง (ปัจจุบันคือถนนจงเจิ้งลู่) คือศูนย์กลางการค้าที่มีการซื้อขายสิ่งของเครื่องใช้สำหรับชีวิตประจำวัน ที่มีความคึกคักมากที่สุดบนเกาะไต้หวัน
ในปี ค.ศ. 1912 ซึ่งมีการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟสายภูเขาอาลีซาน ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1914 จะมีการเปิดใช้งานโรงเลื่อยเจียอี้ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นโรงเลื่อยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก ภายในมีการนำเข้าเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดจากยุโรปและสหรัฐฯ จนทำให้เกิดเป็นการรวมตัวของอุตสาหกรรมไม้ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด ส่งผลให้เจียอี้ได้รับการยกย่องให้เป็นนครแห่งไม้อย่างเต็มภาคภูมิ
ตำนานแห่งการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
กลุ่ม Walk in Taiwan ซึ่งก่อตั้งขึ้นในแถบต้าเต้าเฉิงของไทเป ได้เดินทางมาตั้งกลุ่ม Chiayi in House ขึ้นในเจียอี้ในปี ค.ศ. 2022 โดยนำเอาแนวคิดในแบบใช้การเดินทอดน่องมาทำความรู้จักกับบ้านเกิด ซึ่งโปรแกรมแรกที่พวกเขาได้หยิบมาโปรโมทคือ การบอกเล่าเรื่องราวของถนนเอ้อทง
เฉินอี๋ซิ่ว (陳怡秀) ผู้จัดการเขตหยุนหลิน เจียอี้และไถหนานของ Walk in Taiwan เล่าว่า ในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน แถบถนนต้าทง (ปัจจุบันคือถนนจงซานลู่) คือย่านของคนญี่ปุ่น ส่วนถนนเอ้อทงจะเป็นถนนสำหรับคนท้องถิ่น เป็นย่านการค้าซึ่งคนในพื้นที่จะมาติดต่อซื้อขายสินค้า “ผู้คนต่างพูดกันว่า ร้านค้าในแถบเอ้อทงมีขายทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ” ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังมีร้านค้าดั้งเดิมหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการอยู่ เช่น ร้านขายของป่า ที่เปี่ยมด้วยกลิ่นอายความเป็นรากหญ้า
เซี่ยเหวินเสียง (謝文祥) เจ้าของร้านขายของป่าอี้ชาง (益昌山產行) อธิบายว่า “ของที่เก็บมาจากบนภูเขา จะถูกเรียกเป็นของป่าทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เห็ดหูหนู น้ำผึ้ง หน่อไม้แห้ง เห็ดหอม เมล็ดโอ้วเอ๋ว หรือดอกไม้จีนแห้ง” และจากการบุกเบิกเส้นทางรถไฟสายภูเขา ทำให้เจียอี้กลายเป็นฮับของการขนส่งและกระจายสินค้าทางบกที่สำคัญของไต้หวัน เพราะสินค้าจากทางใต้และทางเหนือต่างก็มารวมอยู่ที่นี่ เซี่ยเหวินเสียงชี้ไปยังร้านขายของชำที่อยู่ตรงข้ามแล้วบอกกับเราว่า ในตอนนั้น ร้านนี้ขายดีมาก โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนที่ขายดีตลอดเวลาจนไม่ได้ปิดประตูเลย
ร้านค้าแห่งอื่นบนถนนจงเจิ้งลู่ต่างก็มีเรื่องเล่าไม่แพ้กัน เช่น “ร้านขายจักรเย็บผ้าเจียอี้” ซึ่งเจ้าของร้านในปัจจุบันเป็นลูกหลานรุ่นที่ 5 แล้ว เราจะดูได้อย่างไรว่าเป็นร้านเก่าแก่? วิธีง่าย ๆ คือ ให้ดูหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่เหนือประตู ถ้ามีแค่ 4 หลัก ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นร้านที่เก่าแก่มาก หรือถ้าดูจากลักษณะภายนอก ถ้าเป็นอาคารที่ใช้หินขัดซึ่งดูแล้วเก่าแก่ เข้าไปข้างในแล้วมองเห็นว่าเป็นอาคารที่สร้างขึ้นด้วยไม้สนฮิโนกิ บันไดไม้ฮิโนกิ ป้ายชื่อร้านทำจากไม้แกะสลัก สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายในต่างก็มีเรื่องราวมากมายแอบแฝงอยู่
เฉินอี๋ซิ่วพาเราไปดูร้านที่อยู่ข้าง ๆ คือ “ร้านขายธูปไล่ซิ่นเฉิง” ไล่หลงอี้ (賴隆毅) เถ้าแก่รุ่นที่ 4 ของร้านยืนอยู่ที่หน้าร้าน เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา เขาก็จะถามว่าต้องการจะเอาไปไหว้อะไร เพราะการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ผีสางนางไม้ หรือไหว้เจ้าที่เจ้าทาง จะต้องเตรียมกระดาษเงินกระดาษทองที่แตกต่างกัน จึงต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดทุกอย่าง
หน้าร้านของร้านขายจักรเย็บผ้าเจียอี้ ยังคงแสดงหมายเลขโทรศัพท์ที่เป็น 4 หลัก ซึ่งทำให้เรารู้ในทันทีว่า นี่คือร้านค้าเก่าแก่ จักรเย็บผ้าที่อยู่ในร้าน เปี่ยมไปด้วยความทรงจำในการเย็บผ้าของครอบครัวจำนวนมาก
เฉินอี๋ซิ่วที่จากบ้านเกิดไปนาน 5 ปี และเพิ่งกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกครั้งได้ 6 เดือนกล่าวถึงบ้านเกิดของเธอว่า “เจียอี้เป็นเมืองเล็กแต่มีครบทุกสิ่ง”
เดิมที สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับเจียอี้ก็มีเพียงแต่ภูเขาอาลีซาน แต่ในช่วงหลายปีมานี้ เมืองที่เจริญขึ้นอย่างช้า ๆ แห่งนี้ ค่อย ๆ เผยเสน่ห์อันน่าหลงใหลออกมา สิ่งที่ทำให้เฉินอี๋ซิ่ว ผู้ซึ่งกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้งรู้สึกประหลาดใจมากคือ “ที่นี่คือเมืองสำหรับคนที่มีอุดมคติ”
จากบันทึกในหนังสือ The Place : Chiayi City เราได้เห็นตัวเลขสถิติที่สร้างความประหลาดใจให้เราเป็นจำนวนไม่น้อย แม้เจียอี้จะมีพื้นที่เพียงประมาณ 60 กว่า ตร. กม. แต่กลับสามารถหาข้าวหน้าไก่รับประทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง จำนวนร้านขายชาไข่มุกก็มีความหนาแน่นมากที่สุดในไต้หวัน จำนวนร้านกาแฟมีความหนาแน่นเป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน ส่วนจำนวนร้านสะดวกซื้อก็มีความหนาแน่นเป็นอันดับ 3 ของไต้หวัน ในขณะที่มีความหนาแน่นของสวนสาธารณะมากที่สุดในไต้หวันด้วย สิ่งที่ทำให้เจียอี้มีความเป็นที่สุดมากมายขนาดนี้ ไม่ใช่มาจากศักยภาพทางเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยี หากแต่เกิดขึ้นจากชีวิตประจำวันที่เรามองเห็นได้ทุกวัน นอกจากนี้ หมี่เย็นของที่นี่จะราดด้วยมายองเนส การรับประทานเต้าฮวย ก็ต้องรับประทานร่วมกับน้ำเต้าหู้จึงจะได้รสชาติ คนเจียอี้เดินไปบนเส้นทางของตัวเองด้วยความเร็วในแบบของตัวเอง และใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ
ตอนที่ออกมาจาก Chiayi in House เฉินอี๋ซิ่วแนะนำให้เราเดินไปทางตะวันออกของถนนเอ้อทง จะพบกับตลาดบูรพาหรือตงซื่อฉ่าง (東市場) ที่นี่ถือเป็นทั้งโรงครัวและโรงอาหารของคนเจียอี้ อีกทั้งยังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อเงยหน้าขึ้นมองเจ๋าจิ่ง (藻井) หรือซุ้มเพดานวัดอันวิจิตรตระการตาแล้ว ก็จะพบว่า บรรดาเทวรูปและหุ่นที่ประดับอยู่ มีทั้งในแบบตะวันออกที่เป็นรูปพระสังกัจจายน์และเหล่าขุนพลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีน หุ่นที่ใส่ชุดสูทสวมหมวกทรงสูง พร้อมทั้งถือไม้เท้าตามแบบตะวันตกและเทพมีปีกสองข้าง ซึ่งต่างก็เป็นฝีมือการปั้นของหวังจิ่นมู่ (王錦木) ครูช่างชื่อดัง
ถนนหนทางที่เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา และการอยู่กินจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทำให้มีร้านค้าหลายแห่งที่มีเรื่องราวบอกเล่ามากมาย การเดินทอดน่องไปเรื่อย ๆ จึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นหาเสน่ห์ของเมืองแห่งนี้ เพราะนี่คือทัศนียภาพในแบบที่เราต้องค่อย ๆ เดินไปแบบช้า ๆ จึงจะสามารถสัมผัสกับมันได้
DNA ของนครแห่งไม้
นอกจากความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเจียอี้คืออุตสาหกรรมไม้ จากการสำรวจของ รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ (陳正哲) แห่งคณะสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยหนานหัว พบว่า ในเจียอี้มีบ้านที่สร้างขึ้นด้วยไม้อย่างน้อย 6,000 กว่าหลัง ถือเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของบ้านไม้มากที่สุดของไต้หวัน
เมื่อเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมไม้ในเจียอี้ การเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟสายภูเขาอาลีซานในปี ค.ศ. 1912 ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เมืองเจียอี้มีการพัฒนามากขึ้น เฉินเจิ้งเจ๋อบรรยายว่า “ป่าของอาลีซานเป็นเสมือนแม่ ที่ให้กำเนิดเมืองเจียอี้ซึ่งเป็นเสมือนลูก โดยมีเส้นทางรถไฟสายภูเขาอาลีซานที่เป็นเสมือนสายสะดือ คอยลำเลียงอาหาร เลี้ยงดูจนเมืองแห่งนี้ค่อย ๆ เติบโตขึ้น” แต่หลังจากออกกฎหมายห้ามการตัดโค่นต้นไม้แถบภูเขาอาลีซานในปี ค.ศ. 1963 ก็ทำให้เมืองหลวงของอุตสาหกรรมไม้แห่งนี้ค่อย ๆ ซบเซาลง
ในปี ค.ศ. 2014 ทีมงานของ รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ ได้เข้าไปปักหลักยังกลุ่มอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ในทัณฑสถานเก่าของเมืองเจียอี้ เพื่อเริ่มบูรณะเหล่าบ้านไม้ที่ถูกปล่อยให้รกร้างมาเป็นเวลานาน พร้อมกับขบคิดไปด้วยว่า จะทำอย่างไรให้การซ่อมแซมบ้านพักเก่าแก่หลังหนึ่ง สามารถฟื้นฟูเมืองแห่งหนึ่งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงได้เสนอไอเดีย “นครแห่งไม้ 2.0” ขึ้น โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912–1963 อุตสาหกรรมไม้ได้สร้างให้เจียอี้มีภาพความเจริญของความเป็นนครแห่งไม้ 1.0 ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ที่กำลังเป็นกระแสของโลก ก็ทำให้กระแสความนิยมบ้านไม้ หวนกลับคืนมาอีกครั้ง พร้อมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมไม้ที่มีความเจริญมากขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของโครงการ “นครแห่งไม้ 2.0” ซึ่ง รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ ได้เสนอไอเดียที่ใช้การซ่อมแซมมาทดแทนการจ่ายค่าเช่า ด้วยการให้หน่วยงานราชการ นำเอาบ้านพักเจ้าหน้าที่ของเรือนจำเก่าในเจียอี้ที่รกร้างอยู่ มาปล่อยให้เอกชนรายย่อยเข้าไปทำการบูรณะซ่อมแซม ภายใต้การชี้แนะของทีมงานผู้เชี่ยวชาญ โดยมีข้อแม้เพียงว่า ขอให้ผู้ที่เข้ามาเปิดร้านประกอบธุรกิจที่นี่จะต้องมีอะไรที่เกี่ยวพันกับไม้ อันจะส่งผลให้เกิดเป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจเกี่ยวกับไม้ขึ้นที่นี่
รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ ได้พาเราไปเดินชม Department of Correction 1921 ซึ่งเป็นบ้านไม้หลังแรกในกลุ่มอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ของเรือนจำเก่าเจียอี้ที่บูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จ โดยทีมงานได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ภายในมีการจัดแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานวัสดุไม้ใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งใช้เทคนิคใหม่มาทำการเสริมโครงสร้างให้มีความปลอดภัยมากขึ้น พวกเขาแสดงให้เห็นว่า เทคนิคที่ใช้สามารถทำให้อาคารไม้มีความทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างไม้ยังช่วยให้ประหยัดพลังงาน และมีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วย “บ้านหลังนี้ถือเป็นบ้านตัวอย่าง” ที่จะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัสกับความงดงามในรูปแบบใหม่ของบ้านไม้
ร้านลูกกวาดต้าอี้ ที่ตั้งอยู่บนถนนจงเจิ้งลู่ มีผนังหินขัดอยู่ด้านนอก แต่จริง ๆ แล้ว นี่คือบ้านที่มีโครงสร้างเป็นไม้ ซึ่งบ้านแบบนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากในเจียอี้
รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ มีแผนการผลักดันอุตสาหกรรมไม้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยในส่วนของบ้านไม้ในตัวเมืองที่เอกชนเป็นเจ้าของ รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ เสนอโครงการ “ลบเมคอัพของบ้านเก่า” ในการปลุกกระแสปรับปรุงบ้านเก่าในตรอกซอกซอยเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ เห็นว่า ควรเริ่มจากการทำหน้าบ้านให้ดูดีก่อน “เราต้องให้ความสำคัญกับหน้าบ้าน เพราะหน้าบ้านเป็นเสมือนสมบัติสาธารณะของทุกคน” เริ่มจากการรื้อหน้าต่างที่เคยถูกปิดตายโดยใช้แผ่นเหล็กมาปิดไว้ รวมถึงระเบียงบ้านที่รกรุงรัง โดยใช้วิธีการปรับลดและเปิดไฟส่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปแบบดั้งเดิมของบ้านเก่าแก่เหล่านี้ ทำให้ทุกคนค้นพบว่า แท้จริงแล้ว บ้านในสมัยก่อนถูกสร้างขึ้นอย่างสวยงามและมีความหรูหราในตัวเอง
โดย รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ ได้ยกตัวอย่างผลสำเร็จของการลบเมคอัพของบ้านที่อยากให้เราไปเดินชม เช่น ร้านยาซินหยางชุนที่อยู่บนถนนหลันจิ่งเจีย และบ้าน 2 ชั้นทรงญี่ปุ่นที่อยู่ติดกัน ซึ่งได้ซ่อมแซมบริเวณด้านหน้าเรียบร้อยแล้ว จนสามารถมองเห็นหน้าต่างกลมที่ชั้นสอง ระเบียงโค้ง และสีดั้งเดิมของแผ่นไม้ที่นำมาประกบเป็นผนัง ทำให้เราสามารถจินตนาการถึงภาพของอาคารเหล่านี้ในยุครุ่งเรืองเมื่อวันวาน
ร้านลูกกวาดต้าอี้ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนจงเจิ้งลู่ คืออาคารที่เคยถูก อ. เฉินเฉิงพัว (陳澄波) จิตรกรระดับบรมครูของไต้หวัน นำมาใช้ในการวาดภาพ เมื่อเราเดินเข้าไปภายในเพื่อสนทนากับเถ้าแก่ของร้าน เขาไม่ลืมที่จะชี้ให้ดูภาพที่แขวนอยู่บนผนังซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายมาจากผลงานของ อ. เฉินเฉิงพัว พร้อมกล่าวว่า “ตึกหลังนี้ก็คือหลังที่อยู่ตรงนั้น” ซึ่ง รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อกล่าวเสริมว่า “สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของบ้านหลังนี้ คือ หน้าจั่ว แต่ที่ผ่านมาถูกแผ่นเหล็กโทรม ๆ มาปิดเอาไว้” การลบเมคอัพของบ้านเก่าแก่ ก็เหมือนกับการเปิดไข่นำโชค เมื่อเราเปิดบ้านแต่ละหลังออกมาก็จะมีเซอร์ไพรส์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น มีบ้านหลายหลังที่เรามองจากภายนอกจะนึกว่าเป็นอาคารหินขัด ทำให้คิดว่าเป็นบ้านที่มีโครงสร้างเป็นอิฐหรือคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่พอเปิดมันออกมากลับพบว่า เป็นบ้านที่มีโครงสร้างเป็นไม้ ซึ่ง รศ. เฉินเจิ้งเจ๋อ จัดให้บ้านแบบนี้ เป็นบ้านที่ “สวมหน้ากาก” ซึ่งเราเรียกมันแบบขำ ๆ ว่า เป็นวิธีการก่อสร้างแบบเกินจริง แต่ก็ทำให้เราพอจะนึกภาพของยุคแห่งความรุ่งเรืองของบ้านไม้ในเจียอี้ในสมัยนั้นได้
ระหว่างที่ทำการลบเมคอัพให้กับบ้านเก่าแก่ ก็มักจะดึงดูดเพื่อนที่อาศัยอยู่โดยรอบให้เข้ามาแวะชม พร้อมถกเถียงกันถึงรูปแบบของบ้านในสมัยก่อน การทำให้ทุกคนสนใจและกล่าวถึง จึงถือเป็นการนำมาซึ่งอนาคตของบ้านเก่าแก่เหล่านี้
หลังจากได้ฟังเรื่องราวที่ค่อย ๆ ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาของบ้านไม้เก่าแก่ ก็สะท้อนให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมไม้ในไต้หวัน ครั้งต่อไปที่คุณมีโอกาสได้ไปเยือนเจียอี้ เชื่อว่าคงจะมีเส้นทางที่จะไปเดินเที่ยวอยู่ในใจกันแล้วอย่างแน่นอน
เพิ่มเติม
เรื่องเล่า “เอ้อทง” กับตำนานของนครแห่งไม้ เดินทอดน่องสู่ “เจียอี้”