New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 15 ก.ค. 66
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Moa Kärnstrand ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Svenska Dagbladet ของสวีเดน โดยรมว.อู๋ฯ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยประสานสามัคคีในการรับมือกับภัยคุกคาม เพื่อธำรงรักษาสถานภาพเดิมที่เปี่ยมด้วยสันติภาพในช่องแคบไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกอัปโหลดลงในเว็บไซต์และตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 13 และ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ตามลำดับ
รมว.อู๋ฯ เห็นว่า ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญของโลก อีกทั้งช่องแคบไต้หวันยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคเอเชีย ไปสู่ทั่วทุกหนแห่งทั่วโลก หากจีนก่อสงครามกับไต้หวัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่าสงครามรัสเซีย - ยูเครน
รายงานข่าวข้างต้นยังได้หยิบยก ข้อมูลจากรายงานการคาดการณ์ของ Rhodium Group คลังสมองของสหรัฐฯ ที่ชี้ว่า ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน อาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาคมโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ได้
รมว.อู๋ฯ ชี้ด้วยว่า หลายประเทศทั่วโลกต่างคาดการณ์ว่า จีนอาจรุกรานไต้หวันในปี 2027 เนื่องจากรัฐบาลจีนเคยประกาศต่อประชาคมโลกว่า กองทัพจีนจะมีแสนยานุภาพสำหรับการโจมตีไต้หวันในปี 2027 ประกอบกับในปี 2027 นายสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันในการครองตำแหน่งในวาระถัดไป หากในช่วงเวลานั้น รัฐบาลจีนไม่สามารถสร้างผลงานที่น่าประทับใจ ก็อาจจะทำการรุกรานไต้หวัน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนในประเทศ อย่างไรก็ตาม รมว.อู๋ฯ ยังคงเน้นย้ำว่า ในช่วงเวลานี้ สงครามมิใช่วาระเร่งด่วน แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
รมว.อู๋ฯ เผยว่า ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวไต้หวัน ต่างให้ความสนใจต่อสงครามรัสเซีย - ยูเครนเป็นอย่างมาก และได้รับข้อคิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย ความมุ่งมั่นของชาวยูเครนในการปกป้องอำนาจอธิปไตยและดินแดนของตนเอง แม้แสนยานุภาพทางการทหารจะขาดความสมดุล แต่ก็สามารถต่อกรกับประเทศที่ใหญ่กว่า ควบคู่ไปกับการแสวงหาพลังเสียงสนับสนุนและความช่วยเหลือจากประชาคมโลก นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสกัดกั้นการรุกรานจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม ซึ่งควรค่าแก่การที่ไต้หวันจะเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในภายหน้าต่อไป
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ทำให้ทั่วโลกตระหนักเห็นว่า สงครามนำมาซึ่งความหายนะ ความวิบัติและความเสียหายในมูลค่ามหาศาล หากประชาคมโลกร่วมผนึกกำลังในการเรียกร้องต่อจีน ก็จะทำให้จีนไม่กล้ากระทำการบุ่มบ่าม ประชาคมโลกจึงควรร่วมกันทำให้จีนตระหนักว่า การรุกรานไต้หวันด้วยกำลังอาวุธ จะต้องแลกมาด้วยความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นตามมา
รมว.อู๋ฯ ย้ำอีกว่า จีนได้สร้างภาพลวงตาในรูปแบบ “การทูตสันติภาพ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากจีนจะแผ่ขยายอิทธิพลด้วยกำลังอาวุธ และทำการข่มขู่ไต้หวันอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังทำการโจมตีไต้หวันด้วยสงครามไซเบอร์ สงครามลูกผสมและสงครามจิตวิทยา อย่างต่อเนื่องเสมอมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบิดเบือนกระแสสังคมในไต้หวัน ตลอดจนเพื่อต้องการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและมิตรสหายต่างแดนอย่างสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน และกลุ่มประเทศตะวันตก