New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 ก.ค. 66
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Marc Perelman พิธีกรรายการ l’Entretien ของสำนักข่าว France 24 โดยได้มีการเผยแพร่เนื้อหาบทสัมภาษณ์ผ่านรายการและเว็บไซต์ในวันที่ 13 ก.ค. ในหัวข้อ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ สงครามในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันมิใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” (’War with China is not unavoidable,’says Taiwan’s Foreign Minister) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU)
ในช่วงแรก รมว.อู๋ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อ “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” (North Atlantic Treaty Organisation, NATO) ที่เฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ภัยคุกคามจากจีนและพฤติกรรมการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยรมว.อู๋ฯ ได้หยิบยกประเด็นใน 2 กรณีหลักที่ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก และอุปทานของแผ่นชิปจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในไต้หวันมากกว่าร้อยละ 90 จะถูกป้อนเข้าสู่ตลาดโลก พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังชี้ด้วยว่า หากเมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ก็จะส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะขาดช่วง ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อทั่วโลก ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ชัดว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากจะมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงในไต้หวันแล้ว ยังมีความสำคัญต่อประชาคมโลกด้วยเช่นกัน
ต่อกรณีที่ Mr.Mark Milley ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่า จนปัจจุบัน ยังไม่มีร่องรอยใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า จีนจะเข้ารุกรานไต้หวันในเร็ววันนี้ ซึ่งรมว.อู๋ฯ ได้แสดงทรรศนะที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่า สงครามช่องแคบไต้หวันมิใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน และมิใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยขณะนี้ จีนนำกลยุทธ์ “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม” ดังที่ระบุไว้ในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (The Art of War by Sunzi) มาใช้กับไต้หวัน โดยจีนบีบบังคับให้ไต้หวันยอมจำนนต่อแรงกดดันจากจีน ด้วยการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อวิธีการต่างๆ ของจีน พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางรับมืออย่างรอบคอบให้มากที่สุด
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า เส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวันเป็นปัจจัยสำคัญที่ธำรงปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี จีนทราบดีว่า การส่งเครื่องบินรบหรือเรือรบรุกล้ำผ่านเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน จะนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรง แต่พวกเขากลับมองข้าม เนื่องจากมีเป้าหมายในการจะบีบเวลาในการตอบสนองของไต้หวัน และไม่ปล่อยให้ไต้หวันไหวตัวเตรียมการรับมือได้ทัน ไต้หวันตั้งอยู่แนวหน้าของการรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ หากไต้หวันเกิดภาวะวิกฤต ก็จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ที่จะต้องแบกรับผลกระทบจากความเสียหายร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศอย่างกระตือรือร้น และต้องเตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม พร้อมทั้งคาดหวังที่จะเห็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ร่วมสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ
ต่อข้อซักถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือในการปกป้องไต้หวันหรือไม่นั้น รมว. อู๋ฯ เน้นย้ำว่า การปกป้องไต้หวันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเราโดยตรง โดยไต้หวันจะสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องการจากสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯ ช่วยฝึกอบรมทางกลาโหมให้กองทัพสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทั้งนี้ เพื่อปฏิรูปทางการทหาร ควบคู่ไปกับการยกระดับแสนยานุภาพที่ขาดความสมดุลของไต้หวัน ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เมื่อกล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจาลงนามความตกลงด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – EU รมว.อู๋ฯ เผยว่า EU เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนต่างชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไต้หวัน ซึ่งไต้หวันยินดีที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศสมาชิก EU ในเชิงลึก โดยหวังว่า EU จะสามารถแบ่งแยกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – EU และ EU - จีน ออกจากกัน และหวังว่าจะมีการเปิดการเจรจา BIA ระหว่างไต้หวัน – EU ในเร็ววัน เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์แบบทวิภาคีในเชิงลึกระหว่างสองฝ่ายต่อไป