New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 ก.ค. 66
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Mark T. Esper อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในรายการ “TVBS Meeting Room” โดยมีอวี๋เหวินฉี เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งแขกรับเชิญทั้งสองรายที่ร่วมให้สัมภาษณ์ต่างแสดงจุดยืนไปในทิศทางเดียวกันว่า ประชาคมโลกควรตระหนักถึงความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศของไต้หวันด้วยการพึ่งพาตนเอง และการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับเหล่าประเทศพันธมิตร โดยการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้ทำการไลฟ์สด พร้อมทั้งได้มีการอัปโหลดลงช่องทาง Youtube เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับชมอย่างถ้วนหน้า
รมว.อู๋ฯ และอดีตรมว. Esper ต่างเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของไต้หวัน เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น พวกเราไม่สามารถละเลยหรืออยู่นิ่งเฉยได้ ซึ่งการขยายเวลารับใช้ชาติของทหารเกณฑ์ เป็นหนึ่งในแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหมของไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม อดีตรมว. Esperให้การยอมรับต่อรัฐบาลไต้หวัน ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องดินแดนของตน พร้อมทั้งกล่าวว่า การขยายเวลารับใช้ชาติของทหารเกณฑ์ เป็นเวลา 1 ปี เป็นการส่งสัญญาณ (signal) ที่ถูกต้องให้ประชาคมโลกได้ร่วมรับรู้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของประชาชนชาวไต้หวันทุกคน เราจำเป็นต้องแสดงความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง จึงจะได้รับพลังสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่จากประชาคมโลก
ต่อประเด็นกลยุทธ์ของไต้หวันที่ใช้รับมือกับการคุกคามจากจีนว่า ควรเลือกใช้วิธีการตอบโต้เพื่อยับยั้งหรือจะเจรจาหารือกันให้มากขึ้น อดีตรมว. Esper ชี้ว่า มีเพียงการจัดตั้งกลไกสำหรับการยับยั้งที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับยกระดับแสนยานุภาพทางการป้องกันประเทศเท่านั้น ที่จะทำให้การเจรจาและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ดี การตอบโต้เพื่อยับยั้งและการเจรจา มิได้มีความขัดแย้งกันในตัวเอง รมว.อู๋ฯ ชี้ให้เห็นถึงจุดยืนของรัฐบาลไต้หวัน ที่ว่า “ไต้หวันไม่ยั่วยุไม่ท้าทาย และมุ่งมั่นรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน” รวมถึง “เร่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมอย่างต่อเนื่อง” พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเน้นย้ำว่า เพื่อรับมือการคุมคามและการบีบพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวันจากจีน ไต้หวันจะมุ่งแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างได้ทยอยแสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งต่อต้านพฤติกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ส่วนการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) และการประชุมสุดยอดผู้นำในเวทีนานาชาติ ต่างก็ได้มีการเน้นย้ำถึงจุดยืนดังกล่าว ซึ่งก็คือ การร่วมสกัดกั้นความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังย้ำว่า จีนไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับนานาประเทศทั่วโลก และไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศ คือการสร้างความยั่วยุและท้าทาย
อดีตรมว. Esper แสดงทรรศนะว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อความสมดุลในช่องแคบไต้หวันที่มีมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี เนื่องมาจากการคุกคามด้วยกำลังทหารของจีน ด้วยเหตุนี้ อดีตรมว. Esper จึงได้เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดการพิจารณาในญัตติที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจีนเดียว และลดความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์ เพื่อแสดงให้จีนเห็นถึงสัญญาณการตอบโต้ที่ชัดเจน รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ความทะเยอทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน มิได้จำกัดเพียงเฉพาะในช่องแคบไต้หวันเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่พื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรที่จะประสานความร่วมมือกัน เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีนในการคุกคามประเทศภายนอก
ต่อประเด็นการกระจายความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รมว.อู๋ฯ เผยว่า แผ่นชิปทั่วโลกร้อยละ 60 และแผ่นชิปทันสมัย กว่าร้อยละ 92 ล้วนผลิตจากไต้หวัน หากเกิดสงครามในช่องแคบไต้หวัน จะก่อให้เกิดความเสี่ยงอันเกิดจากภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก การที่ผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน ได้ไปก่อตั้งโรงงานในต่างแดน จะมีส่วนช่วยในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานโลก แต่ในส่วนของการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง จะยังคงฝังรากลึกลงในไต้หวันต่อไป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ที่มีการพัฒนามาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ยากนักที่จะสามารถมีอะไรมาทดแทนได้ ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศในไต้หวัน เมื่อปีที่แล้ว มีการขยายตัวเติบโตขึ้น กว่าร้อยละ 77.9 จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและแรงดึงดูดทางการตลาดของไต้หวัน โดยการลงทุนระหว่างประเทศจะส่งผลให้ไต้หวันมีความมั่นคง เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ อดีตรมว. Esper ยังด้วยย้ำว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ ควรร่วมลงนามความตกลงทางการค้าและข้อตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เพื่อลดการพึ่งพาที่ไต้หวันมีต่อจีน ควบคู่ไปกับการเตือนเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จีนสามารถแย่งชิงเทคโนโลยีทันสมัย เช่นการผลิตแผ่นชิปไปได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศลัทธิอำนาจนิยมครอบครองข้อได้เปรียบในอุตสาหกรรมที่เป็นกุญแจสำคัญ เช่น การบินและอวกาศ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ ยังได้ชี้แจงถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยเห็นว่า ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจาก 2 พรรคการเมืองหลักในรัฐสภาสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานสภาบริหาร เชื่อว่าในอนาคต ไม่ว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้เป็นพรรครัฐบาล ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอันดีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ก็จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน