New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตรในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ร่วมลงนาม “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” ในระหว่าง “การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2023”

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ก.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และมูลนิธิวิจัยพลังงานยั่งยืนไต้หวัน (Taiwan Institute for Sustainable Energy, TAISE) ร่วมจัด “การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2023” ขึ้น ณ โรงแรม Court Yard Taipei โดยมีนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) H.E. Tofiga Falani ผู้สำเร็จราชการตูวาลู Mr. Gustav N. Aitaro รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐปาเลา Mr. John Silk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและพาณิชย์ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และ Mr. Rennier Gadabu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณรัฐนาอูรู ร่วมลงนาม “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
 
โดยการประชุมครั้งนี้ มีรมว.อู๋เจาเซี่ย นายจางจื่อจิ้ง รัฐมนตรีทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนายเจี่ยนโย่วซิน เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษ มูลนิธิ TAISE ได้ร่วมกล่าวปราศรัยในฐานะแขกผู้มีเกียรติ โดยรมว.อู๋ฯ ได้ระบุถึงเป้าหมาย “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050” ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศไว้ใน “วันคุ้มครองโลก” (Earth Day) เมื่อปี 2021 โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้ประกาศ “แนวทางและกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ของไต้หวัน” เมื่อปี 2022 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางการไต้หวันยังร่วมลงมติผ่านญัตติ “กฎหมายว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”  กลายเป็นประเทศอันดับที่ 18 ที่มีการกำหนดให้เป้าหมาย “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050” บรรจุเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ประกอบกับไต้หวันมุ่งแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อย่างกระตือรือร้นเสมอมา แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันมุ่งมั่นประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเป็นรูปธรรม
 
เพื่อให้การสนับสนุนประเทศพันธมิตรของไต้หวันในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก รับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไต้หวันจึงได้ให้การสนับสนุนเหล่าประเทศพันธมิตรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้แผนโครงการพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการผลักดันโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อทดแทนพลังงานในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงของพลังงาน และเพื่อให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลหรือภาวะน้ำทะเลท่วมพื้นที่ชายฝั่ง รวมไปถึงภัยคุกคามจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างผันผวน ความมั่นคงทางอาหาร และความท้าทายนานับประการ
 
นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ไต้หวันได้มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าประเทศพันธมิตร ในการผลักดันโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างกระตือรือร้น อาทิ การร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างไต้หวัน - หมู่เกาะมาร์แชลล์” อีกทั้งยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ปาเลา ภายใต้ “โครงการว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติ ระหว่างไต้หวัน - ปาเลา” พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ตูวาลูในการดำเนินการตาม “โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และการถมทะเลสร้างที่ดิน” รวมไปถึงการจัดตั้งระบบชลประทาน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนชาวนาอูรูที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะเลียบชายฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยโครงการข้างต้นเหล่านี้ ล้วนเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศพันธมิตรในการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อย่างเป็นรูปธรรม