New Southbound Policy Portal

ปธน.และรองปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 26 ก.ค. 66
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป” โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภายุโรป ที่ร่วมจับตาต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU และให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมเสมอมา โดยปธน.ไช่ฯ หวังที่จะเห็นไต้หวัน – EU เร่งสร้างความร่วมมือเชิงลึกในประเด็นความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การลงทุน ความมั่นคงทางไซเบอร์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามความตกลงด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – EU โดยเร็ว ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคีในเชิงลึกระหว่างกัน เพื่อผนึกพลังสามัคคีอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่นต่อไป
 
โดยสุนทรพจน์ของปธน.ไช่ฯ ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับ Mr. Urmas PAET รองประธานรัฐสภายุโรป ที่นำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ พร้อมกล่าวถึงการที่นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนรัฐสภายุโรปในเดือนที่ผ่านมา และได้มีโอกาสร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ Ms. Nicola Beer รองประธานรัฐสภายุโรป และสมาชิกสภาแบบข้ามพรรค เชื่อว่าการมาเยือนของสมาชิกรัฐสภาในครั้งนี้ จะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมโยงเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU ให้เป็นไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสทางความร่วมมือที่เป็นไปได้ในอนาคตต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า ไต้หวัน – EU เป็นหุ้นส่วนสำคัญ ที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ หลายปีมานี้ ความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายร่วมมุ่งมั่นผลักดัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย ในปัจจุบัน เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการและการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระดับโลก ระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างอย่างเต็มที่ พวกเราคาดหวังที่จะเห็นไต้หวัน – EU เร่งสร้างความร่วมมือเชิงลึกในประเด็นความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การลงทุน ความมั่นคงทางไซเบอร์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น
 
ปธน.ไช่ฯ ชี้อีกว่า เราหวังว่า ภายใต้การสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา ไต้หวัน – EU จะเร่งบรรลุการลงนามความตกลงด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – EU โดยเร็ววัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนแบบทวิภาคี และเป็นการผนึกพลังสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่น ปธน.ไช่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อคณะตัวแทน สำหรับการสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นเสมอมา
 
โดย Mr. PAET แถลงว่า สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันเต็มไปด้วยความผกผัน กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีความสามัคคีอย่างแนบแน่น ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึก ในระหว่างที่รัสเซียรุกรานยูเครน ไต้หวันได้แสดงจุดยืนที่แน่ชัดและมีหลักการ อีกทั้งยังยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนอย่างเป็นรูปธรรม Mr. PAET เห็นว่า เพื่อความมั่นคงในสถานการณ์ระหว่างประเทศในอนาคต บนพื้นฐานตามหลักนิติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยูเครนจำเป็นต้องรวบรวมดินแดนคืนมาให้ได้มากที่สุด พลังสนับสนุนที่ประชาคมโลกส่งมอบให้กับยูเครน จึงเป็นสิ่งล้ำค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้
 
Mr. PAET ชี้ว่า ไต้หวัน – EU เป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของกันและกัน จากข้อมูลสถิติการค้าและการลงทุนของไต้หวันใน EU จะเห็นได้ว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศยุโรปก็มีความสำคัญกับไต้หวันไม่แพ้กัน ทั้งสองฝ่ายจึงคาดหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในเชิงลึกต่อไป นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีบทบาทที่สำคัญด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและการพัฒนาทางดิจิทัล โดย Mr. PAET เห็นว่า นี่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเร่งขยายความสัมพันธ์ทางความร่วมมือทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างมากยิ่งขึ้น
 
Mr. PAET เห็นว่า ประชาคมโลกควรที่จะประยุกต์ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ของไต้หวัน ซึ่งการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน จะสอดคล้องกับกับผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก การที่ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่จะสามารถอุทิศคุณประโยชน์ด้านความรู้ความเชี่ยวชาญให้แก่ประชาคมโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ตราบจนปัจจุบัน WHO ก็ยังไม่ยอมรับคุณประโยชน์ที่ไต้หวันยินดีที่จะส่งมอบให้ โดย Mr. PAET จึงรู้สึกเสียใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
 
Mr. PAET กล่าวอีกว่า EU ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ล่าสุดในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก อย่างใกล้ชิด หลายปีมานี้ บรรดาผู้นำ EU ต่างทยอยยื่นเสนอแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกสำหรับ EU โดยมีหลักการสำคัญคือ หวังที่จะเห็นการพัฒนาในภูมิภาค ดำเนินไปในทิศทางที่เปี่ยมด้วยสันติภาพ ซึ่งนี่มิใช่เพียงคำพูดลอยๆ เท่านั้น หากมองจากกรณีเหตุการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน เพียงเกิดสงครามขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งของโลก ก็จะส่งผลกระทบไปสู่ทั่วทุกมุมโลกเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงในทุกภูมิภาค จึงมีความสำคัญต่อประชาคมโลกอย่างยิ่งยวด
 
โดยในวันเดียวกันนี้ นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป” โดยรองปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อคณะตัวแทนที่ให้การสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU ตลอดมา พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มุ่งแสวงหาค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม เช่นเดียวกับ EU โดยรองปธน.ไล่ฯ หวังที่จะสร้างความร่วมมือกับ EU ต่อไปในเชิงลึก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้มีเสถียรภาพที่ยั่งยืนต่อไป
 
รองปธน.ไล่ฯ ชี้ว่า เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ที่ประชุมรัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบต่อ “ญัตติว่าด้วยสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน” พร้อมทั้งประณามพฤติกรรมของจีนในกรณีการซ้อมรบในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ รัฐสภายุโรปยังได้ร่วมเปิดอภิปรายเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์การปฏิบัติต่อจีนในทิศทางเดียวกันของ EU” โดยมีข้อสรุปว่า EU ควรที่จะร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จึงจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของ EU และทั่วโลก
 
รองปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า แผนข้อเสนอเหล่านี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อไต้หวันแล้ว ยังมีนัยยะสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเป็นอย่างมากอีกด้วย