New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 ส.ค. 66
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Dene Chen หัวหน้าผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Agence France-Presse (AFP) ฝ่ายกิจการไต้หวัน ฮ่องกงและมาเก๊าแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และ Ms. Amber Wang ผู้สื่อข่าวที่ประจำการในไต้หวัน โดยได้มีการเผยแพร่เนื้อหาบทสัมภาษณ์ในวันเดียวกันในหัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวันชี้ สงครามช่องแคบไต้หวัน อาจนำมาซึ่งหายนะ” (Taiwan FM says conflict with China would have 'disastrous results') ซึ่งได้รับการเผยแพร่ต่อโดยสื่อออนไลน์ที่สำคัญในระดับนานาชาติ และได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวงทั่วโลก
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไต้หวันในฐานะที่เป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ เราจะไม่ตอบโต้หรือมีพฤติกรรมท้าทาย ในทางกลับกัน เราจะเพิ่มงบประมาณทางกลาโหมให้มากขึ้น เพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศ ตลอดจนผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหมอย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการฝึกอบรมทางทหาร เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา พวกเราได้รับบทเรียนจากเหตุสงครามรัสเซีย - ยูเครน จึงเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล ตลอดจนแสวงหาพลังสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงในประชาคมโลก
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ประชาชนชาวไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการปกป้องดินแดนของประเทศชาติ อำนาจอธิปไตยและวิถีชีวิตในแบบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน พวกเราก็ต้องระวังภัยคุกคามในรูปแบบอื่น เนื่องจากหลายปีมานี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง เม็ดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติก็ลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ที่ส่งผลให้สังคมเกิดความระส่ำระสาย ประชาชนเกิดความไม่พอใจ ทำให้จีนอาจใช้การสร้างวิกฤตขึ้นในต่างประเทศ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน ไต้หวันจึงต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะตกเป็นแพะรับบาปสำหรับเรื่องนี้
รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ โดยอุปทานของแผ่นชิปจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในไต้หวัน มากกว่าร้อยละ 90 จะถูกป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ประกอบกับปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก เมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งทางทะเลในระดับสากล และระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เสียงสนับสนุนและการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หลายปีมานี้ พลังเสียงสนับสนุนที่มีต่อไต้หวันจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ ในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) และการประชุมนานาชาติที่สำคัญๆ เหล่าผู้นำประเทศต่างแสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งยึดมั่นในจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน โดยพลังเสียงสนับสนุนเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยในการสกัดกั้นความทะเยอทะยานและการเข้ารุกรานไต้หวันของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รมว.อู๋ฯ แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลฝรั่งเศส สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ สหภาพยุโรป เยอรมนี เช็กและลิทัวเนีย ที่ได้กำหนดให้ญัตติว่าด้วยการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสเสร็จสิ้นกระบวนการบัญญัติ “กฎหมายการจัดตั้งกองทัพในระยะเวลา 7 ปี” (2024-2030 LPM) จนกลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่ได้บัญญัติให้ภารกิจ “รักษาเสรีภาพในการเดินเรือ” ถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
สำหรับประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในปีหน้านี้ รมว.อู๋ฯ ตอบในการสัมภาษณ์ว่า จีนอาจลดระดับความรุนแรงในการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารลง เนื่องจากจากประสบการณ์ตลอดที่ผ่านมา ซึ่งไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี มักจะส่งผลให้ไต้หวันได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อันเนื่องมาจากการที่ผลของการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่จีนคาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการ ด้วยการเผยแพร่ข่าวปลอม การแทรกซึมและสงครามทางจิตวิทยา พวกเราจึงจำเป็นต้องระแวดระวังพฤติกรรมเหล่านี้ของจีนให้ดี
หลังจากที่สำนักข่าว AFP เผยแพร่เนื้อหาบทสัมภาษณ์ของรมว.อู๋ฯ ไปได้เพียง 2 วัน ก็ได้รับความสนใจและถูกเผยแพร่ต่อผ่านช่องทางต่างๆ ของสื่อต่างชาติ เช่น สำนักข่าว France 24 ของฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ The Straits Times ของสิงคโปร์ วารสาร Barron's ของสหรัฐฯ รายการ News18 ของสถานีโทรทัศน์ CNN ของอินเดีย และหนังสือพิมพ์ Le Soir ของเบลเยี่ยม เป็นต้น