New Southbound Policy Portal
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ วันที่ 7 ส.ค. 66
การประชุมระดับสูงภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 13 และการประชุมคณะทำงานด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 2 ประจำปีนี้ ซึ่งเปิดฉากขึ้นในเมืองซีแอตเทิลแห่งสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3 – 6 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ (Ministry of Health and Welfare, MOHW) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นำคณะตัวแทนภาครัฐระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเข้าร่วม การประชุมในปีนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นสุขภาพที่เป็นกุญแจสำคัญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยเฉพาะแนวทางการเสริมสร้างความทรหดในการดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ ในยุคหลังโควิด – 19 โดยระหว่างการประชุม ตัวแทนภาครัฐของไต้หวันต่างร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งเข้าร่วมเสวนาด้านนโยบายในการประชุม ตลอดจนแสวงหาโอกาสการเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ
MOHW แถลงว่า ในระหว่างการประชุม ตัวแทนไต้หวันและพันธมิตรด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia Pacific Health Coalition, APHC) ได้เปิดการเสวนาพูดคุยแบบทวิภาคีในประเด็น “การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับความทรหดด้านการดูแลสุขภาพ” โดยกลุ่มพันธมิตรข้างต้น รวบรวมขึ้นจาก 16 หน่วยงาน ทั้งในด้านสาธารณสุข สมาคมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต และโรงงานผลิตยาระดับนานาชาติ โดยกลุ่มพันธมิตรได้มุ่งมั่นประสานภารกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนการประชุมที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่จัดโดยกลุ่มเอเปค โดยในการประชุมครั้งนี้ APHC ยังได้ยื่นเสนอประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน ดังนี้ ประการแรก APHC คาดหวังที่จะเห็นไต้หวันอัดฉีดงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นในกลไกการดูแลทางสุขภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาตัวใหม่ หรือการนำเข้าเทคโนโลยีทันสมัย และการปรับเพิ่มสรรพคุณยา ทั้งนี้ เพื่อที่ประชาชนจะได้รับอานิสงส์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์เกิดใหม่เหล่านี้ นอกจากนี้ ยังได้ยื่นเสนอให้มีการกำหนดคู่มือสาธารณะ (Public Guidance) และมุ่งบรรลุข้อตกลงการรักษาความลับ (Confidentiality) ในขั้นตอนกระบวนการเบิกจ่ายค่ารักษาของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ทุกกระบวนการ ดำเนินไปอย่างโปร่งใส ชัดเจนและมีตรรกะที่สามารถอ้างอิงได้ ประการที่ 2 เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ ที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุที่นับวันยิ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น APHC คาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับไต้หัน ในด้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การป้องกันความเสื่อมถอยตามวัยของร่างกาย และความทรหดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ในภายภาคหน้าต่อไป
รมว.เซวียฯ กล่าวตอบรับข้อเสนอ 3 ประการข้างต้น ดังนี้ ประการแรก การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาหรือเวชภัณฑ์ตัวใหม่ และยกระดับประสิทธิภาพการพิจารณาตรวจสอบ เป็นทิศทางที่พวกเราให้ความสำคัญเสมอมา เพื่อลดขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบ พวกเราจะ “ดำเนินการตรวจสอบแบบคู่ขนาน” โดยจะให้สำนักงานอาหารและยาและสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน ทำการพิจารณาตรวจสอบแบบควบคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ประการที่ 2 สำหรับการอัดฉีดงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพ ในระบบประกันสุขภาพของไต้หวันในปัจจุบัน ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการจ่ายผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์ยา รวมไปถึงการให้บริการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย โดยพวกเราหวังที่จะได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรงบรายจ่ายที่เกี่ยวข้องในงบประมาณหลักประจำปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในกรณีการรักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้ทางการกำลังเร่งพิจารณาหารือในการจัดตั้งระบบกองทุนวิจัยยารักษาโรคมะเร็ง โดยหวังที่จะเสริมสร้างทรัพยากรและความยืดหยุ่นในกลไกการรักษาโรคมะเร็ง ประการสุดท้ายคือ เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ทางการแพทย์ที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุ อาทิ การป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ทางการได้เร่งทำการปฏิรูประบบการแพทย์อย่างกระตือรือร้น เพื่อมุ่งสู่กลไกการดูแลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน สังคมไต้หวันยังเผชิญหน้ากับวิกฤตเด็กเกิดน้อย จึงจะมีการอัดฉีดทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นในด้านกุมารแพทย์ แต่เนื่องจากปริมาณการใช้ยาและขนานยาของเด็กมีความเฉพาะเจาะจง และถูกนำไปใช้ในอัตราส่วนที่น้อย จึงทำให้การป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ทางการจึงคาดหวังให้หน่วยงานเอกชนช่วยจัดตั้งกลไกที่รัดกุม ด้วยการช่วยเหลือในด้านการผลิตและป้อนสินค้าให้ไต้หวันก่อน เมื่อเกิดภาวะวิกฤต หากต้องการเจรจาในส่วนของค่าตอบแทน (price negotiation) สนง. ประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน จะเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานโดยตรง
MOHW แถลงว่า การประชุมภายใต้กรอบเอเปคในครั้งนี้ หลายเขตเศรษฐกิจต่างให้การสนับสนุนต่อการมุ่งพัฒนาในประเด็น “สุขภาพหนึ่งเดียว (one health)” อีกทั้งยังให้การยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์ที่รุดหน้าในด้าน “สุขภาพเชิงดิจิทัล (Digital Health)” ของไต้หวัน รวมไปถึงการพัฒนากลไกการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งรังไข่ในสตรี โดยในอนาคต พวกเราจะเร่งเปิดการเสวนากับประชาคมโลก ผ่านแพลตฟอร์มเอเปค ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความทรหดในด้านกลไกการดูแลสุขภาพของไต้หวัน ผ่านการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินการจัดตั้งระบบการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อส่งมอบการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้าต่อไป