New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023” เน้นประเด็นสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันและความมั่นคงระดับโลก

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 ส.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023” (Ketagalan Forum: 2023 Indo-Pacific Security Dialogue)” พร้อมกล่าวว่า การยืนหยัดและธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎกติกาสากล มีความสำคัญต่อเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเป็นอย่างมาก โดยไต้หวันมุ่งมั่นทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ด้วยการร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ขณะเดียวกัน ก็ร่วมแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอุบัติขึ้นของโรคระบาดและขบวนการก่อการร้าย นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังชี้แจงว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นข้อได้เปรียบของไต้หวัน เป็นปัจจัยสำคัญของระบบห่วงโซ่อุปทานด้านความมั่นคงระดับโลก
 
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ต่างเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ โอกาสในการสวมบทบาทที่เป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลกของไต้หวัน ได้ปรากฎขึ้นอีกครั้ง โดยพวกเราคาดหวังที่จะเป็นแรงหนุนสำคัญในการร่วมส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
 
หลายเดือนที่ผ่านมานี้ ข้าพเจ้าได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งใจต่อความสนับสนุนจากเหล่าคณะตัวแทน ซึ่งนอกจากจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่น “องค์การอนามัยโลก” (WHO) แล้ว ยังร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในด้านสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP)
 
ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกยังคงเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างรุดหน้ามากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะในด้านการค้า อุตสาหกรรมการผลิตและการศึกษา ที่ส่งมอบโอกาสอย่างมากมายให้แก่โลกใบนี้ ส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งเสถียรภาพในภูมิภาค ถือเป็นหลักประกันด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระดับโลก และมีความสำคัญต่อการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก
 
การผงาดขึ้นสู่บทบาทสำคัญของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ยังนำมาซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดและความขัดแย้งในระบอบทางการเมือง อำนาจเผด็จการนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและเพิ่มความถี่ในการเข้ารุกรานประเทศภายนอกมากยิ่งขึ้นและเชื่อว่ารูปแบบการปกครองที่กลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมยื่นเสนอสอดคล้องกับความต้องการของประชาคมโลก มากกว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นชนวนเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้งให้แก่กลุ่มประเทศในภูมิภาค
 
อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น ได้คาดการณ์สถานการณ์ความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญในอีก 10 ปีข้างหน้า ในระหว่างที่อดีตนรม. อาเบะยังอยู่ในตำแหน่ง เขาได้ยื่นเสนอพันธกิจว่าด้วยการส่งเสริมให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ก้าวไปสู่ทิศทางที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก
 
ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่ประชาคมโลกไม่สามารถขาดได้ ในการสร้างความทรหดในระบอบประชาธิปไตย ส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือกับกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค เพื่อสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไต้หวันยินดีที่จะแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ภายใต้การสนับสนุนที่ได้รับจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตย อย่างคณะตัวแทนญี่ปุ่น และคณะตัวแทนเอสโตเนีย ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในระยะนี้
 
ไต้หวันได้ประยุกต์ใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อยกระดับศักยภาพด้านความมั่นคง ซึ่งนอกจากจะทำการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ แล้ว ยังมุ่งผลักดันเรือรบที่ผลิตในประเทศ โดยพวกเราได้อาศัยมาตรการการเสริมสร้างและฝึกอบรมศักยภาพด้านกลาโหมให้มีความพร้อมอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการอัดฉีดงบประมาณเพื่อยกระดับแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล โดยความมุ่งมั่นพยายามเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของไต้หวัน
 
ทั้งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานนอกภาครัฐของไต้หวัน ต่างมุ่งมั่นปราบปรามการโจมตีด้วยการเผยแพร่ข่าวปลอมจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม ควบคู่ไปกับการรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยภาคพลเรือนของไต้หวันต่างก็ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่พันธิมตรทั่วโลกอย่างกระตือรือร้นด้วยเช่นกัน
 
ไต้หวันสามารถสำแดงข้อได้เปรียบในด้านกระบวนการผลิตความแม่นยำสูง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย ความทรหดและสามารถสกัดกั้นการแทรกแซงจากประเทศภายนอก
 
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากร สาธารณสุข การแพทย์ การช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม และการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานทางการแพทย์ของพวกเราก็ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทางเทคโนโลยีและการบริหารจัดการให้แก่กลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือปรับปรุงคุณภาพด้านสาธารณสุขและการดูแลทางการแพทย์
 
เหมือนดั่ง Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงที่ฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า สหภาพยุโรป (EU) จะไม่ยอมให้เกิดพฤติกรรมการรุกรานขึ้นในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก แถลงการณ์ที่หนักแน่นเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงการธำรงรักษาเสรีภาพและการเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก มีความสำคัญต่อการมุ่งสู่อนาคตของประชาคมโลกเป็นอย่างมาก
 
โดยการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023 ปิดฉากลงอย่างราบรื่นเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 8 ส.ค. ซึ่งการประชุมครั้งนี้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย โดยระหว่างการประชุม ได้เชิญ Mr. Taro Aso อดีตนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น Mr. Andrus Ansip อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย เดินทางมาเข้าร่วมแสดงปาฐกถาในไต้หวัน พร้อมทั้งเชิญเหล่านักการเมือง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มประเทศภูมิภาค มุ่งเน้นการอภิปรายไปที่ประเด็นสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ความสงบเรียบร้อยด้านความมั่นคงระดับโลก ความท้าทายและผลกระทบต่อประชาธิปไตย ที่เกิดจาก “ยุทธศาสตร์สงครามในพื้นที่สีเทา” เช่น สงครามไซเบอร์และสงครามจิตวิทยา รวมไปถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกและบทบาทของไต้หวัน เป็นต้น
 
อดีตนรม. Aso เน้นย้ำในระหว่างการแสดงปาฐกถาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น เป็นไปอย่างลุ่มลึก โดยไต้หวันนับเป็นหุ้นส่วนและมิตรสหายคนสำคัญของญี่ปุ่น สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยสำคัญที่มิสามารถขาดได้ในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมโลก โดยกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ควรประสานความร่วมมือเพื่อสำแดงพลังการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทุขึ้นของสงคราม ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นยินดีที่จะเห็นไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบ CPTPP ตลอดจนร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การ WHO เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7)
 
Mr. Ansip ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อระบอบการปกครองในไต้หวันที่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพ ประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเคารพต่อสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ขณะนี้ ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน ผู้ที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยและเสรีภาพจะไม่มีวันโดดเดี่ยว กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกพร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างไต้หวัน ตลอดจนจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ อย่างกระตือรือร้นต่อไป