New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Lucy Hornby ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญปัญหาจีน โดยเน้นย้ำว่า ไต้หวันมีเรื่องราวประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ เป็นพลังแห่งความดีและหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ในประชาคมโลก

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 ส.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Lucy Hornby ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสหรัฐฯ และผู้เชี่ยวชาญปัญหาจีน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านนิตยสาร The Wire China ของสหรัฐฯ ในรูปแบบถาม - ตอบ ภายใต้หัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวันแถลงแนวทางการขยายพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวัน” (Joseph Wu on Taiwan’s International Outreach) โดยสาระสำคัญของบทสัมภาษณ์จะถูกคัดย่อและอัปโหลดลงในบทความวารสารภายใต้ชื่อ “นโยบายการต่างประเทศ” (Foreign Policy) โดยรมว.อู๋ฯ ได้วิเคราะห์เชิงลึกต่อประเด็นสถานการณ์การต่างประเทศของไต้หวัน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเข้าใจที่มีต่อไต้หวัน และสถานการณ์ในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ให้ประจักษ์แก่สายตาประชาคมโลก
 
เริ่มต้น รมว.อู๋ฯ ได้ชี้แจงภาพรวมยุทธศาสตร์การทูตของไต้หวัน พร้อมกล่าวว่า ไต้หวันมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการธำรงรักษามิตรภาพกับ 13 ประเทศพันธมิตรอย่างกระตือรือร้น หลายปีมานี้ ไต้หวันและกลุ่มประเทศประชาธิปไตย มีความสัมพันธ์ที่ก้าวกระโดดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งไต้หวันได้มุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศพันธมิตรอย่างเต็มกำลัง เพื่อรับมือกับความท้าทายของจีน ที่หวังจะแย่งชิงประเทศพันธมิตรของไต้หวันให้ไปอยู่ฝ่ายตน
 
ต่อกรณีความเป็นไปได้ที่จีนจะบุกรุกรานไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า มาตรการไม่สร้างความยั่วยุท้าทายเป็นนโยบายในปัจจุบันของรัฐบาลไต้หวัน ในฐานะที่ไต้หวันเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ การหลีกเลี่ยงการปะทุขึ้นของสงครามเป็นเป้าหมายสำคัญของพวกเรา เนื่องจากสงครามช่องแคบไต้หวันจะนำมาซึ่งหายนะต่อไต้หวันและทั่วโลก เพราะฉะนั้น การเสริมสร้าง “หลักการการป้องปรามแบบหมู่คณะ” (collective deterrence) จึงเป็นแนวทางการรับมือกับการข่มขู่จากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไต้หวันนอกจากจะดำเนินการปฏิรูปทางกลาโหมแล้ว ยังจะมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล ตลอดจนแสวงหาพลังสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ขณะนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยหลักได้กำหนดฉันทามติร่วมกัน ว่าด้วยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันที่เป็นความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียวของจีน และตระหนักเห็นว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นหนึ่งในปัจจัยของการรักษาความมั่นคงและกระตุ้นความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลจีนอาศัย “ยุทธศาสตร์สงครามในพื้นที่สีเทา” ในการเข้ารุกรานไต้หวัน ด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้ารุกรานไต้หวัน และรุกล้ำผ่านเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน เนื่องจากมีเป้าหมายในการจะบีบเวลาในการตอบสนองของไต้หวัน และไม่ปล่อยให้ไต้หวันไหวตัวเตรียมการรับมือได้ทัน และเพื่อบั่นทอนความมุ่งมั่นตั้งใจในการป้องกันประเทศของภาคประชาชนชาวไต้หวัน แต่วัตถุประสงค์ของจีนไม่บรรลุเป้าตามที่หวังไว้ เนื่องจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องดินแดน อธิปไตยและวิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตยของภาคประชาชนชาวไต้หวัน แข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา การที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ หรือแม้กระทั่งมหาสมุทรอินเดีย ภูมิภาคแอฟริกาและลาตินอเมริกา ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดาและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เฝ้าจับตาและระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการประสานความสามัคคีกันอย่างหนักแน่นมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน
 
เมื่อระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณคำมั่นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ไว้กับไต้หวันในเรื่องความมั่นคงของประเทศชาติ ในขณะที่ไต้หวันก็มุ่งมั่นประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นในทุกด้าน อาทิ ด้านความร่วมมือทางความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายต่างเปิดการอภิปรายกันในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีมติอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันประเทศ รวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์และการฝึกอบรมบุคลากร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายยังร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการจัดเตรียมยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อใช้รับมือกับแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล ด้วยเหตุนี้ ศักยภาพด้านการป้องกันประเทศของไต้หวัน จึงได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้านการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน สหรัฐฯ สวมบทบาทที่สำคัญเสมอมา อันจะเห็นได้จากการที่ร่วมเจรจาแนวทางให้การสนับสนุนไต้หวันร่วมกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ส่วนในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเปิดการเจรจา ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เมื่อปี 2022 และได้มีการลงนามความตกลงฉบับแรกไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีน ประชาคมโลกนอกจากจะต้องเสริมสร้างความเข้าใจต่อจีนแล้ว กลุ่มประเทศประชาธิปไตยยังควรที่จะจัดตั้งกลไกการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ตลอดจนประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่น เพื่อรับมือกับแผนปฏิบัติการที่เป็นการยั่วยุท้าทายที่เกิดจากกองทัพปลดปล่อยประชาชน เจ้าหน้าที่การต่างประเทศของจีน หรือแม้กระทั่งรัฐบาลจีน
 
หากกล่าวถึงแนวโน้มในอนาคตของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ แสดงทรรศนะว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีเรื่องราวทางประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ประชาธิปไตยเป็นความสำเร็จที่ชาวไต้หวันภาคภูมิใจ สำหรับประชาชนชาวไต้หวันแล้ว วิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตยได้กลายเป็นวิถีชีวิตที่ปกติสุข และเป็นแนวคิดที่จีนไม่สามารถลิดรอนไปจากใจของพวกเราได้ ซึ่งจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รมว.อู๋ฯ คาดหวังที่จะเห็นไต้หวันได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกต่อไป ในฐานะหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และพลังแห่งความดีของโลก