New Southbound Policy Portal
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 15 ส.ค. 66
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานการลงทุน กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ด้านการลงทุน ระหว่างไต้หวัน - กลุ่มประเทศอาเซียน และอินเดีย ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไทเป (TICC) พร้อมเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนผู้ประกอบการจากฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและอินเดีย เดินทางมาเข้าร่วม โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากถึง 300 คน ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก
นายเฉินเจิ้งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว นับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคอุตสาหกรรม และได้รับเสียงยอมรับและสนับสนุนจากหน่วยงานที่ดูแลบริหารด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนและอินเดีย เนื่องด้วยในระยะที่ผ่านมา สถานการณ์ระหว่างประเทศเต็มไปด้วยวิกฤตที่ผกผัน อาทิ ความขัดแย้งทางการค้าและเทคโนโลยี ระหว่างจีน - สหรัฐฯ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และความขัดแย้งจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ทำให้กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างทยอยเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการพึ่งพาตนเอง ควบคู่ไปกับการลดขนาดของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้ามชาติหันมาทำการปรับเปลี่ยนกลยุทธด้านระบบห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับศักยภาพทางอุตสาหกรรม ประกอบกับอาเซียนและอินเดีย เป็นตลาดที่มีจำนวนประชากรค่อนข้างสูง และมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ ตลอดจนเป็นกลุ่มประเทศที่มุ่งมั่นเข้าร่วมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างกระตือรือร้น จึงส่งผลให้ประเทศอาเซียนและอินเดีย ก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เสริมสร้างความร่วมมือนานาชาติ สรรสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน” โดยหวังที่จะอาศัยเงื่อนไขการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และตลาดในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ นำเสนอข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมของไต้หวันไปสู่ประเทศอื่นๆ ผ่านการขยายตลาดในรูปแบบที่หลากหลาย การวางรากฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของไต้หวันแล้ว ยังเป็นการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ ควบคู่ไปด้วย
รมช.เฉินฯ แถลงเพิ่มเติมว่า กลุ่มประเทศอาเซียนและอินเดียเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก โดยในช่วงระหว่างปี 2018 – 2021 สถานการณ์การลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนของผู้ประกอบการต่างชาติ ได้แซงหน้าจีน ก้าวสู่อันดับ 3 ของโลก ส่วนอันดับ 1 คือสหภาพยุโรป (EU) และอันดับ 2 คือสหรัฐฯ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.6% ครองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 นับเป็นเพียงไม่กี่พื้นที่ทั่วโลก ที่สามารถรักษาเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรป ต่างก็มุ่งเสริมสร้างการวางรากฐานในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่อย่างกระตือรือร้น ส่วนรากฐานธุรกิจของผู้ประกอบการไต้หวันในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ก็ค่อยๆ มีการรวมตัวกันเป็นนิคมอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการไต้หวัน และชุมชนอุตสาหกรรมแล้วในปัจจุบัน อาทิ เวียดนามได้ก้าวสู่การเป็นชุมชนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนไทยเป็นชุมชนอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board, PCB) และอินโดนีเซียก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าที่สำคัญในภูมิภาค นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน อาทิเช่น บริษัท เดลต้า อิเล็กโทรนิกส์ ได้จัดตั้งสถานประกอบการในไทย นอกจากนี้ บริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ก็ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในไทย อินโดนีเซียและอินเดีย เพื่อมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วย
กระทรวงเศรษฐการจะมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวัน ในการแสวงหารูปแบบความร่วมมือที่เป็นไปได้ และโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ผ่านการประสานความร่วมมือทางอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการติดต่อขอเจรจาลงนามหรือปรับแก้ข้อตกลงว่าด้วยหลักประกันด้านการลงทุนกับกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ด้านการลงทุนของผู้ประกอบการไต้หวัน หลังจากโอกาสทางการค้าฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โรคโควิค – 19 กระทรวงเศรษฐการก็ได้ทยอยจัดคณะตัวแทนผู้ประกอบการไต้หวัน เดินทางไปเยือนเพื่อสำรวจและแสวงหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนด้านการลงทุนกับนานาประเทศในเชิงลึก
โดยในระหว่างการประชุม น.ส. ศศิรัฐอรณ์ ฉันท์ชูพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ไทเป ได้ชี้ว่า ประเทศไทยคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2023 จะมีการขยายตัว 3.6% ปัจจุบัน ไทยได้ร่วมลงนามข้อตกลงการค้าเสรี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ โดยผู้ส่งออกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร ประกอบกับระบบการศึกษาของไทยมีความพร้อมสมบูรณ์ บุคลากรเปี่ยมด้วยคุณภาพสูงและเป็นประเทศส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไต้หวัน เข้าร่วมลงทุนในไทย
สนง.การลงทุนไต้หวัน เห็นว่า ในสถานที่การประชุมยังจัดให้มีซุ้มข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อให้ข้อมูลแก่บรรดาผู้ประกอบการ โดยในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น ก็มีการจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจแบบตัวต่อตัว ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทะเบียนรวม 40 กว่าราย
ในอนาคต สนง.การลงทุนไต้หวันจะเร่งผนวก “ช่องบริการลงทุนไต้หวัน” (Taiwan Desk) และหน่วยงานการลงทุนที่ประจำอยู่ในต่างแดน เพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางรากฐานการลงทุนในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ผ่านการให้บริการคำปรึกษาด้านการลงทุน การจัดการประชุมในรูปแบบไฮบริดทั้งการประชุมในสถานที่จริงและการประชุมออนไลน์ การจัดคณะสำรวจโอกาสธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไต้หวัน สามารถขยายตลาดอาเซียนและอินเดียได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยในเร็ววันนี้ คณะสำรวจโอกาสธุรกิจมีกำหนดการเดินทางเยือนอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 27 ส.ค. – 1 ก.ย. ที่จะถึงนี้ด้วย