New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 24 ส.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายระหว่างประเทศ การเสริมสร้างความทรหดของประชาธิปไตยโลก ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญร่วมกัน โดยการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงเสถียรภาพและความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ล้วนเป็นเสาหลักของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในการเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ หลายปีมานี้ ไต้หวัน สหรัฐฯ และยุโรป มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างกลไกทางเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของนานาประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ อีกด้วย โดยปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า ไต้หวันจะสร้างและขยายขอบเขตความร่วมมือในเชิงลึกกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมธำรงรักษาเสรีภาพ การเปิดกว้าง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่สืบไป
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ในการแข่งขัน FIBA บาสเกตบอล เวิลด์คัพ 2023 รอบอุ่นเครื่อง ที่เพิ่งจัดขึ้น ได้ติดต่อเชิญนักกีฬาฝีมือดีจากลิทัวเนีย ลัตเวีย เดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันในไต้หวัน โดยได้ปิดฉากการแข่งขันลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งปธน.ไช่ฯ และ Ms. Dalia Grybauskaitė อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐลิทัวเนีย ได้เดินทางไปร่วมรับชมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากการแลกเปลี่ยนทางกีฬาแล้ว หลายปีมานี้ ไต้หวัน – ลิทัวเนีย ต่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ อาทิ การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในดินแดนระหว่างกัน และการเดินทางเยือนแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือแบบข้ามแวดวงที่มากยิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีมานี้ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด – 19 และสงครามรัสเซีย - ยูเครน การเสริมสร้างความทรหดของประชาธิปไตยทั่วโลก กลายเป็นประเด็นสำคัญร่วมกันของประชาคมโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยเฉพาะไต้หวัน ลิทัวเนียและเช็ก ที่มีประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์ด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งตราบจนปัจจุบัน กลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างก็เป็นประเทศแนวหน้าในการธำรงรักษาประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดจนเผชิญหน้ากับภัยคุกคามและการขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ร่วมกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น ในอนาคต พวกเราจะมุ่งมั่นผลักดันการลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (ADTA) ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่อำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งสองฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในด้านความร่วมมือระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศยุโรป ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้ว พวกเราได้ยื่นเสนอ “โครงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป” โดยไต้หวันได้ทำการจัดตั้งกองทุนการเงินและการลงทุนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ในช่วงท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อมิตรสหายสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต่างย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันบนเวทีนานาชาติหลายแห่ง โดยในครั้งนี้ พวกเราได้รวมตัวกันในการประกาศให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยด้วย
อดีตปธน. Grybauskaitė กล่าวว่า ลิทัวเนียเป็นมิตรสหายใหม่ของไต้หวันในกลุ่มประเทศทวีปยุโรป มิตรภาพของทั้งสองฝ่ายได้ก่อตั้งขึ้นบนรากฐานความคล้ายคลึงร่วมกันหลายประการ อาทิ ไต้หวัน – ลิทัวเนียต่างมีเนื้อที่ประเทศไม่มาก แต่ต้องเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร แต่ถึงกระนั้น พวกเราก็ยังคงเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
อดีตปธน. Grybauskaitė ชี้ว่า ในยุโรปและพื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ พวกเราต่างเล็งเห็นถึงวิกฤตการบีบบังคับหรือข่มขู่ประเทศรายรอบของประเทศลัทธิอำนาจนิยม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศขนาดเล็กอย่างไต้หวันและลิทัวเนีย กลับผนึกพลังสามัคคีกันมากขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการปกป้องประชาชนของตนเอง
อดีตปธน. Grybauskaitė เผยว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ตนมีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานในการพัฒนาที่รวดเร็วและหลากหลายมิติของไต้หวัน หลายสิบปีมานี้ ไต้หวันได้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึก มาสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย และมุ่งมั่นธำรงรักษาประชาธิปไตยไว้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย อดีตปธน. Grybauskaitė เห็นว่า ความแข็งแกร่งของประเทศใดประเทศหนึ่ง มิได้ขึ้นอยู่กับขนาดของประเทศ แต่อยู่ที่ศักยภาพที่แสดงออกมาของประชาชน เพียงแค่ประชาชนของเรา ต้องการแสวงหาประชาธิปไตย อิสรภาพและเสรีภาพ เราก็จะได้รับเสรีภาพในที่สุด โดยอดีตปธน. Grybauskaitė หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนชาวไต้หวันจะร่วมกำหนดอนาคตของประเทศชาติของตนด้วยวิธีการที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน โดยปราศจากการแทรกแซงจากประเทศที่สาม