New Southbound Policy Portal

รัฐบาลไต้หวันมุ่งผลักดันการเข้าร่วม UN โดยเรียกร้องให้ UN แก้ไขปัญหาที่ชาวไต้หวัน 23 ล้านคนถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของ UN พร้อมทั้งร่วมรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและพื้นที่โดยรอบ

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 ส.ค. 66
 
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 มีกำหนดการเปิดการประชุมขึ้นในวันที่ 5 ก.ย. 2566 ตามเวลาในนครนิวยอร์ก ณ สำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยมีกำหนดการจัดการอภิปรายทั่วไปขึ้นในระหว่างวันที่ 19 – 26 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุม UN ประจำปีนี้คือ “สร้างความเชื่อมั่นและความสามัคคีทั่วโลก : เร่งบรรลุวาระการประชุมในปี 2030 และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่า ทุกคนร่วมแบ่งปันค่านิยมด้านสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้าและความยั่งยืน” (Rebuilding trust and reigniting global solidarity: Accelerating action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity, progress and sustainability for all) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ UN ตระหนักว่า ขณะนี้ นานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงที่ผกผันและรวดเร็ว ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคนในขณะนี้ คือทุกประเทศต้องประสานสามัคคีกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
 
ตลอดปีที่ผานมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการ รวมไปถึงการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมและวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล การที่รัสเซียรุกรานยูเครน นอกจากจะเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาคและระดับโลกแล้ว ยังขัดต่อหลักการว่าด้วยแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยสันติวิธี ที่ระบุไว้ใน “กฎบัตรของสหประชาชาติ” ประกอบกับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนได้เข้าก่อกวนพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ผ่านการข่มขู่ด้วยกำลังทหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากต้องการจะทำการเปลี่ยนแปลงสถานภาพในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันแล้ว ยังเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก อีกด้วย
 
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การฟื้นฟูหลังยุคโควิด – 19 และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นข้ามพรมแดน จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยนานาประเทศทั่วโลกร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวันทำหน้าที่เป็นพลังแห่งความดีและสมาชิกที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบในประชาคมโลก พวกเรามีความยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก ในการอุทิศคุณประโยชน์เชิงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของพวกเรา เพื่อส่งเสริมให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการฟื้นฟูหลังยุคโควิด – 19 ต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบัน UN ยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากจีน และเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 พร้อมทั้งขัดขวางมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในระบบ UN ทั้งตัวแทนประชาชนและสื่อมวลชนไต้หวัน ต่างก็ไม่สามารถเข้าร่วมการเยี่ยมชม การประชุมและการสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องในระบบของ UN ได้เลย ประกอบกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันก็ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ UN ได้เช่นกัน พวกเราจึงขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไต้หวันทั้งสิ้น พวกเรามิได้มอบอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของไต้หวันในระบบ UN โดยข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งสองประเทศมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นเรื่องจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ และเป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ มีเพียงรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งจากภาคประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนชาวไต้หวัน ในการเข้ามีส่วนร่วมใน UN
 
แผนผลักดันเข้าร่วม UN ของไต้หวัน ประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 4 ประการ :
(1) UN ควรเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับกรณีที่ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคนถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของ UN
(2) UN ควรเร่งแก้ไขปัญหาการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนจากไต้หวัน ในการเข้าเยี่ยมชม การมีส่วนร่วมในที่ประชุม หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ UN อย่างเร่งด่วน
(3) UN ควรมุ่งมั่นธำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและพื้นที่โดยรอบอย่างกระตือรือร้น
(4) UN ควรยอมรับไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการสร้างคุณูปการให้แก่ประชาคมโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
 
รัฐบาลไต้หวันจะมุ่งผลักดันเข้าร่วม UN อย่างมีเสถียรภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป รวมไปถึงการเจรจาให้กลุ่มประเทศพันธมิตรไต้หวัน ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีการอภิปรายทั่วไป และเรียกร้องให้คณะผู้แทนถาวรของกลุ่มประเทศพันธมิตรไต้หวันประจำสหประชาชาติ ร่วมลงนามและยื่นส่งหนังสือเรียกร้องต่อ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อกระตุ้นให้เลขาธิการเร่งแก้ไขข้อผิดพลาดในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประชาชนชาวไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ UN ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรลุวิสัยทัศน์ว่าด้วย “การไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” ที่ UN มุ่งให้ความสำคัญเสมอมา
 
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เผยแพร่บทความลงในสื่อแนวหน้าของนานาประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักเห็นถึงวิกฤตช่องแคบไต้หวัน พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมประณามพฤติกรรมการข่มขู่ด้วยกำลังทหารของจีน ซึ่งเป็นการทำลายสันติภาพ เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมกันนี้ ยังเน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่ไว้เชื่อถือได้และเป็นส่วนหนึ่งไม่สามารถขาดได้ในประชาคมโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายอันเปี่ยมด้วยความซับซ้อนทั่วโลก ประชาคมโลกควรยอมรับการเข้าร่วมของไต้หวันในเร็ววัน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา กต.ไต้หวันยังได้ประกาศเปิดตัววิดีทัศน์ผลักดันการเข้าร่วมการประชุม UN ภายใต้หัวข้อ “แด่ความเสมอภาค” เพื่อนำเสนอมุมมองภาพลักษณ์ของไต้หวันในด้านการศึกษา ความเสมอภาคทางเพศ การแพทย์และสวัสดิการ การขจัดความหิวโหย และความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระดับโลก ผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงทั้งในและต่างประเทศ รวม 5 กรณีตัวอย่าง เพื่อสร้างคุณประโยชน์และมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม
 
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อประเด็นไต้หวันให้เป็นที่ประจักษ์แก่กลุ่มประเทศสมาชิก UN และประชาคมโลก รัฐบาลไต้หวันจึงได้จัดการประชุมรอบนอกขึ้นภายใต้ 4 หัวข้อ ในระหว่างการประชุมหลักของ UN ประกอกด้วย “สันติภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน” “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” “สาธารณสุข” และ “นโยบายทางเทคโนโลยี” ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของไต้หวันในรูปแบบต่างๆ โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติพรรคฝ่ายค้าน ก็จะรวมกลุ่มกันเดินทางเยือนนครนิวยอร์กเพื่อเข้าตรวจการณ์ความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาล พร้อมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อไต้หวันในทุกรูปแบบ เพื่อร่วมส่งผ่านเสียงเรียกร้องของประชาชนชาวไต้หวัน ที่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในระบบ UN