New Southbound Policy Portal

อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศของไต้หวัน นำคณะตัวแทนเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนที่ไทย เพื่อคว้าโอกาสธุรกิจด้าน BCG ในไทย

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 5 ก.ย. 66
 
ในระยะนี้ นางเจียงเหวินรั่ว อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ (BOFT) ภายใต้กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อจัด “การประชุมแลกเปลี่ยนโอกาสธุรกิจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดคาร์บอน ระหว่างไต้หวัน – ไทย” โดยอธิบดีเจียงฯ ได้นำผู้ประกอบการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเจรจาหารือกับเหล่าผู้ประกอบการไทยและตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรม เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจในด้านด้าน Bio-Circular-Green (BCG) ในประเทศไทย
 
เพื่อขานรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของระบบสหประชาชาติ หลายปีมานี้ รัฐบาลไทยได้ผลักดันแผนแม่บทเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG อย่างกระตือรือร้น ด้วยการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการรีไซเคิลทรัพยากรเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ในระหว่างการมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบาย “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ภายใต้โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรม 5+2 ของไต้หวัน อันนำมาซึ่งการกระตุ้นให้เกิดแผนโซลูชันแก้ไขปัญหาด้านการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้มีความเป็นมิตร รวมไปถึงอุปสงค์ด้านสินค้ารักษ์โลกที่มีความยั่งยืน
 
ในครั้งนี้ อธิบดีเจียงฯ ได้นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ การจัดการสิ่งปฏิกูลของไต้หวัน เข้าร่วมเจรจากับเหล่าผู้ประกอบการและตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรมของไทย โดยอธิบดีเจียงฯ ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในระหว่างการประชุมว่า นโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไต้หวัน และรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ของไทยมีความคล้ายคลึงกัน โดยในอนาคต ทั้งสองฝ่ายสามารถมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และการบริหารทรัพยากรน้ำ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างกันที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกันในอนาคต โดยอธิบดีเจียงฯ ได้แสดงความคาดหวังที่จะทำความเข้าใจต่อแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองฝ่าย เพื่อหาโอกาสสร้างความร่วมมือและทำความรู้จักกับหุ้นส่วนทางการค้าใหม่ๆ ต่อไป
 
การประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมของไทย ร่วมแบ่งปันสถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ส่วนผู้ประกอบการไต้หวันก็นำเสนอนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและแผนโซลูชันสำหรับแก้ไขปัญหาด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ วัตถุดิบทดแทนและการรีไซเคิลวัสดุพลาสติก เป็นต้น
 
หลังเสร็จสิ้นการประชุมได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยได้เชิญกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไทย จำนวน 20 ราย ร่วมเจรจากับบรรดาผู้ประกอบการไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 60 รอบ ซึ่งประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านความร่วมมือระหว่างกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายใหญ่ของไทย เช่น บริษัท SCG Chemicals , บริษัท Iconplas และบริษัท Reach Biotechnolog กับกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวัน 7 ราย พร้อมทั้งร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างโอกาสธุรกิจได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
 BOFT เน้นย้ำว่า นอกจากทางหน่วยงานจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ คว้าโอกาสจากธุรกิจสีเขียวในต่างแดนแล้ว รัฐบาลยังจะอัดฉีดทรัพยากรเพื่อการแนะแนวทุกรูปแบบ เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ในเร็ววัน สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดข้อมูลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สามารถเข้าชมได้ในเว็บไซต์ข้อมูลการค้าสีเขียว ตามลิงก์ด้านล่างนี้ :https://www.greentrade.org.tw