New Southbound Policy Portal
กระทรวงมหาดไทย วันที่ 8 ก.ย. 66
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2023 โดยในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญคณะตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์การเอกชนจากสหรัฐฯ เกาหลีใต้ อังกฤษ เบลเยี่ยม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและเวียดนาม เดินทางมาเข้าร่วม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและเสวนากันใน 4 ประเด็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพด้านการป้องปรามการค้ามนุษย์ของนานาประเทศ ประกอบด้วย :
(1) รูปแบบและแนวโน้มสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น ในยุคหลังโควิด – 19
(2) สถานการณ์และความท้าทายที่เกิดจากการค้ามนุษย์และการหลอกลวง
(3) กลยุทธ์แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม
(4) ความเสี่ยงและแนวทางการป้องกันด้านการค้ามนุษย์ ในกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ
นายจงคุนจิ่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า การประชุมในครั้งนี้กลับมาเปิดฉากขึ้นในสถานที่จริงอีกครั้ง หลังสถานการณ์โรคโควิด – 19 โดยได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เดินทางมาเข้าร่วมในไต้หวัน เพื่อฟื้นฟูการประชุมในสถานที่จริงซึ่งสามารถสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นของบรรยากาศการแลกเปลี่ยน โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันที่เฝ้าจับตาต่อประเด็นภารกิจการป้องปรามการค้ามนุษย์มาเป็นระยะเวลานาน ทยอยทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในประเด็นที่เกี่ยวข้องข้างต้น อาทิ นางจี้ฮุ่ยหรง สมาชิกคณะกรรมาธิการสภาตรวจสอบและคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางองเยี่ยนจิง นางหลี่ไข่ลี่และนางหลินอิ๋งจวิน สมาชิกคณะทำงานด้านการติดต่อประสานกิจการด้านการป้องปรามการค้ามนุษย์และการขจัดความเหลื่อมล้ำทางกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จบลงอย่างราบรื่น
สตม.ไต้หวัน แถลงว่า การประชุมในครั้งนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ได้หยิบยกมุมมองอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการค้ามนุษย์ มาร่วมเปิดการอภิปราย อาทิ Dr. Mohammad Sabuj ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์และการก่อคดีอาญาแห่งมหาวิทยาลัย Royal Holloway ในเครือ University of London ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่การทูตที่ถูกส่งไปประจำการในสำนักงานตัวแทนรัฐบาลในต่างแดน ลิดรอนสิทธิแรงงานในครัวเรือนที่ถูกว่าจ้าง จะไม่ได้รับการยกเว้นโทษอันเนื่องมาจากเอกสิทธิ์ความคุ้มกันทางทูต โดยรัฐบาลในพื้นที่นั้นๆ สามารถยื่นฟ้องร้องและดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายได้ นอกจากนี้ Mr. An Sung Hoon เจ้าหน้าที่วิจัยระดับสูงของสถาบันวิจัยนโยบายอาญาและการป้องกันอาชญากรรมของเกาหลีใต้ ก็ได้ร่วมแบ่งปันแผ่นแม่บทด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับล่าสุด ปี 2023 โดยหวังที่จะส่งเสริมให้ประชาสังคมบรรลุฉันทามติในการป้องปรามการค้ามนุษย์ ร่วมกัน ควบคู่ไปกับการส่งมอบความช่วยเหลือเฉพาะบุคคลให้แก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ตลอดจนสร้างกลไกการแยกประเภทของคดีที่จะทำการฟ้องร้องในเบื้องต้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงในศูนย์ประสานงานแรงงาน ภายใต้กระทรวงแรงงานของอินโดนีเซีย ก็ได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างกลไกการป้องกันและสอบสวนการก่อคดีอาญา ด้วยการส่งเสริมให้แรงงานเข้ารับการตรวจสอบคุณสมบัติแรงงาน เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของแรงงานต่างชาติชาวอินโดนีเซีย ควบคู่ไปกับการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ โดยในระหว่างการประชุม ผู้บรรยายและผู้เข้าร่วมเสวนา ต่างเสนอกลยุทธ์และแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ได้รับข้อคิดดีๆ มากมาย
สตม.ไต้หวัน เผยว่า ประเด็นการค้ามนุษย์เป็นภารกิจแบบข้ามพรมแดน เฉกเช่นที่ได้มีการชี้แจงลงในสารบัญของ “พิธีสารการค้ามนุษย์” ขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2000 โดยระบุว่า กลไกการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างพร้อมเพรียง ทั้งในประเทศถิ่นกำเนิดของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ประเทศที่แวะเยือนระหว่างการเดินทาง และประเทศเป้าหมายปลายทาง จึงจะสามารถป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่ประชาคมโลกต่อไป