New Southbound Policy Portal
สำนักข่าว CNA วันที่ 11 ก.ย. 66
อุตสาหกรรมการแพทย์ของไต้หวันเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มุ่งมั่นผลักดันเสมอมา โรงพยาบาลคริสเตียนจางฮั่ว (Changhua Christian Hospital) ที่มุ่งผลักดันการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ร่วมกับไทย ได้จัดการประชุมสัมมนาการแพทย์อัจฉริยะ ระหว่างไต้หวัน - ไทย ปี 2023 ขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบูรณาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าสู่ระบบการแพทย์ โดยหวังที่จะขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – ไทยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งรัฐบาลไต้หวันมุ่งผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เป็นต้นมา ในปี 2018 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ได้ประกาศนโยบาย “1 ประเทศ 1 ศูนย์การแพทย์” โดยในช่วงเริ่มต้น กระทรวงสาธารณสุขฯ ได้ทำการคัดเลือกประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวม 6 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาบันการแพทย์ในไต้หวันมุ่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความชำนาญการทางการแพทย์ร่วมกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย แบบตัวต่อตัว
โรงพยาบาลคริสเตียนจางฮั่ว (Changhua Christian Hospital) ที่รับผิดชอบภารกิจในการร่วมแลกเปลี่ยนกับฝ่ายไทย จึงได้จัดการประชุมสัมมนาการแพทย์อัจฉริยะ ระหว่างไต้หวัน - ไทย ปี 2023 ขึ้นในกรุงเทพมหานคร เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในทางการแพทย์ โดยการประชุมครั้งนี้ ได้เชิญนางเซวียซิ่วเหมย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในประเทศไทย นางเกาเสี่ยวหลิง ประธานกรรมการบริหารศูนย์การแพทย์ระหว่างประเทศ รพ.คริสเตียนจางฮั่ว และนางอัมราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาลไทย เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้
การประชุมข้างต้นจัดขึ้นในหัวข้อ “แนวโน้มใหม่ด้านการพัฒนาการแพทย์แม่นยำและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI” โดยนายกู่เทียนสวง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนา AI ของรพ.คริสเตียนจางฮั่ว ได้กล่าวระหว่างการประชุมในประเด็นแนวทางการพัฒนารูปแบบจำลอง AI เพื่อประยุกต์ใช้ในกระบวนการดูแลรักษาเชิงคลินิกและการวินิจฉัยโรคแบบคาดการ์ณล่วงหน้า ที่รพ.คริสเตียนจางฮั่วกำลังมุ่งดำเนินการ จากนั้นนายแพทย์หวงกั๋วหยาง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคทรวงอก ก็ได้ร่วมแบ่งปันกรณีตัวย่างของการประยุกต์ใช้ AI เพื่อคาดการณ์ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการถอดเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วย โดยหวังว่าในอนาคตจะถ่ายทอดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทย ตลอดจนเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยอาการหนักได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ไต้หวันยังมีผู้ประกอบการด้านการแพทย์อัจฉริยะ 20 ราย เข้าร่วมด้วย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในด้านการแพทย์แม่นยำ พร้อมทั้งนำเสนอผลงานเทคโนโลยี 5G การประมวลผลด้วยระบบการสร้างภาพแบบ Iterative Reconstruction การประยุกต์ใช้ AI ในการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน การตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็งปอด การตรวจรหัสพันธุกรรมและการรักษาด้วยเซลล์บำบัด แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่าย แผนโซลูชันด้านการแพทย์ระยะไกล และห้องพักผู้ป่วยอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนที่มากยิ่งขึ้น ระหว่างไต้หวัน - ไทยต่อไป