New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 ก.ย. 66
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Erin Hale ผู้สื่อข่าว “สถานีโทรทัศน์ Al Jazzera” ของประเทศกาตาร์ที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ทำการเผยแพร่ผ่านช่องรายการสถานีโทรทัศน์ไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ภายใต้หัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวัน เรียกร้องให้ประชาคมโลกเฝ้าจับตาความทะเยอทะยานของจีนในการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน” (Q&A: Taiwan Foreign Minister Joseph Wu talks elections and China) ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก
ช่วงเริ่มต้น รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวันโดยรัฐบาลจีน มิได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทุกครั้งที่จีนพยายามเข้าก่อกวนไต้หวันนั้น ต้องประสบกับผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามความหมาย เนื่องจากระบอบการปกครองของจีนเป็นการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ไม่เข้าใจต่อการบริหารประเทศในรูปแบบประชาธิปไตย และกลไกการเลือกตั้งโดยภาคประชาชน จึงเกิดความคาดหวังที่ผิดๆ ต่อการเลือกตั้งรูปแบบประชาธิปไตยของไต้หวัน หากจีนคิดที่จะบีบบังคับไต้หวันให้ยอมจำนวน ด้วยการฝึกซ้อมทางการทหารอย่างจงใจ ก็ถือว่าเป็นการวางหมากเชิงยุทธศาสตร์ในทางที่ผิด นอกจากนี้ จีนยังอาศัยช่องโหว่ของการเปิดกว้างทางสังคมประชาธิปไตยในไต้หวัน เข้าแทรกแซงผลการเลือกตั้งด้วยการข่มขู่ทางเศรษฐกิจและสงครามลูกผสม อันจะเห็นได้จากการยุติกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (Economic Cooperation Framework Agreement, ECFA) การแทรกซึมสังคมไต้หวันด้วยการชักใยสื่อดั้งเดิมและสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่แนวหน้าในการรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศลัทธิอำนาจนิยม และสวมบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เป็นผลอันเนื่องมาจากแผ่นชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดโลกกว่าร้อยละ 60 และอุปทานของแผ่นชิปที่ผลิตในไต้หวันด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีมากกว่าร้อยละ 90 ประกอบกับปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก หากจีนเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหาร จะส่งผลให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจต่อนานาประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากจะมีส่วนเกี่ยวพันกับความมั่นคงของไต้หวันแล้ว ยังมีความสำคัญต่อประชาคมโลกด้วยเช่นกัน เมื่อเผชิญหน้ากับความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ไต้หวันนอกจากจะเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารของตนให้เกิดความแข็งแกร่งแล้ว ยังเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยร่วมผนึกกำลังในการสกัดกั้นการรุกรานจากจีน เพื่อหยุดยั้งเจตนารมณ์ของจีนที่อาศัยข้ออ้างต่างๆ มาก่อสงครามกับไต้หวัน
ต่อประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น รมว.อู๋ฯ ชี้แจงขณะตอบข้อซักถามว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ใกล้กันในเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และต่างก็ยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพร่วมกัน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ตั้งอยู่บนรากฐานการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงความเชื่อมั่นและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลายปีมานี้ สมาชิกสภาและพรรครัฐบาลของสองประเทศ ต่างเปิดการเจรจาในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคระหว่างกันอย่างกระตือรือร้น อาทิ การเจรจาแบบ 2+2 ในด้านการทูตและกลาโหม และการเจรจาแบบ 2+2 ในด้านการทูตและเศรษฐกิจ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2021 ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นในเชิงลึก นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2022 ญี่ปุ่นยังได้ทำการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูลในเอกสารเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ รวม 3 ฉบับ เพื่อเพิ่มงบประมาณทางการทหาร และเพิ่มคำชี้แจงที่เกี่ยวกับไต้หวัน แสดงให้เห็นว่า นับวันรัฐบาลญี่ปุ่นยิ่งตระหนักให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มากยิ่งขึ้น
สำหรับกรณีการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและประเทศพันธมิตร รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวันทะนุถนอมความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอย่างกระตือรือร้นเสมอมา การส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ประเทศพันธมิตรภายใต้ “โมเดลไต้หวัน” เป็นการส่งมอบความช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่โดยตรง เพื่อตอบสนองอุปสงค์ของภาคประชาชนในพื้นที่ ผ่านการประสานความร่วมมือด้วยการจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีการเกษตร กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดโครงการฝึกอบรมเชิงวิชาชีพและการให้ทุนการศึกษา พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความผาสุกอย่างยั่งยืนให้เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่ ในทางกลับกัน จีนใช้วิธีการหลอกล่อด้วยการปั้นคำมั่นสวยหรู แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ อีกทั้งยังผลักให้ประเทศที่ขอความช่วยเหลือตกหลุมพรางกับดักหนี้สินมหาศาล จึงจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ประเทศพันธมิตรเป็นไปอย่างลุ่มลึก โดยพวกเราจะมุ่งเสริมสร้างการไปมาหาสู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในเชิงลึกสืบต่อไป
รมว.อู๋ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า ไต้หวันในฐานะพลังแห่งความดีของโลก คาดหวังที่จะเปิดฉากการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรมกับบรรดามิตรประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างศักยภาพสตรี และการปราบปรามการแพร่กระจายข่าวปลอม เป็นต้น โดยในระยะที่ผ่านมา ไต้หวัน – สาธารณรัฐเช็กได้เปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกัน พร้อมนี้ ไต้หวันยังประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน และหลังจากที่ไต้หวันได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในลิทัวเนียแล้ว ก็ยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในเมืองโพรวองซ์แห่งฝรั่งเศส เมืองมอนทรีออลแห่งแคนาดา กรุงมิลานแห่งอิตาลี และกรุงมุมไบแห่งอินเดีย ตามลำดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน