New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ “คณะพัฒนาธุรกิจด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 18 ก.ย. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะพัฒนาธุรกิจด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นประเด็นที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ ต่างให้ความสำคัญร่วมกัน  หลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ นอกจากจะประสานความร่วมมือทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันในเชิงลึกอีกด้วย ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่สหรัฐฯ และพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังว่า ภายใต้การสนับสนุนของอาคันตุกะที่เดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายมุ่งเสริมสร้างกลไกความมั่นคงทางไซเบอร์ ควบคู่ไปกับการยกระดับข้อได้เปรียบด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่มั่นคงและก้าวหน้าสู่ประชาคมโลก
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ข้าพเจ้าขอให้การต้อนรับ Dr. Laurie E. Locascio ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Standards and Technology, NIST) ที่นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรก และรู้สึกยินดีที่มีโอกาสให้การต้อนรับคณะตัวแทนในครั้งนี้ หลายปีมานี้ ความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นประเด็นที่ไต้หวัน - สหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน จึงคาดหวังที่จะเห็นการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
 
ปธน.ไช่ฯ หยิบยกกรณีตัวอย่าง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาดิจิทัล สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับโลก และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคณะตัวแทน NIST ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ และกลไกการป้องปรามความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น อีกทั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ พวกเราได้จัด “การประชุมเสวนาทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยี” ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการเปิดการเสวนาเชิงนโยบายระดับสูงต่อประเด็นด้านเทคโนโลยี หลังจากที่ได้มีการร่วมลงนาม “ความตกลงทางความร่วมมือเชิงเทคโนโลยี” ระหว่างกันเมื่อปี 2020 โดย NIST ก็ได้เข้าร่วมการประชุมเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งมีนัยสำคัญสำหรับความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า นอกจากความร่วมมือทางเทคโนโลยีแล้ว ไต้หวัน - สหรัฐฯ ยังมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันอย่างกระตือรือร้น โดยในเดือนมิถุนายนปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ก้าวขึ้นสู่หลักชัยใหม่ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ พร้อมทั้งหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (ADTA) ระหว่างกันในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคี เป็นไปอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
 
ปธน.ไช่ฯ เชื่อมั่นว่า การเดินทางมาเยือนของคณะตัวแทนในครั้งนี้ จะสามารถกระตุ้นความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างนี้ คณะตัวแทนยังมีกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรมวันแห่งโอกาสธุรกิจสหรัฐฯ และการประชุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางความรับมือกับอุปสรรคความท้าทายที่เกิดจากความมั่นคงทางไซเบอร์
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นต้นมา ได้มุ่งดำเนินภารกิจที่ยึดหลักแนวคิด “ความมั่นคงทางไซเบอร์คือความมั่นคงระดับชาติ” ควบคู่ไปกับการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่สหรัฐฯ และพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก
 
ในลำดับต่อไป Dr. Locascio กล่าวปราศรัย โดยระบุว่า ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้นำคณะพัฒนาธุรกิจด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน โดยผู้ประกอบการ 13 ราย ที่ร่วมเดินทางมากับเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ต่างก็คาดหวังที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับเหล่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความทันสมัยของไต้หวัน รวมถึงซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญของไต้หวัน เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน
 
Dr. Locascio ระบุว่า ไต้หวันเป็นมิตรสหายและหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดย Dr. Locascio มีความยินดีเป็นอย่างมากที่มีส่วนร่วมมุ่งมั่นในภารกิจความมั่นคงทางไซเบอร์ ภายใต้ “กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนทางเทคโนโลยี” (TTIC) ที่ร่วมลงนามโดย Mr. Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพาณิชย์ของสหรัฐฯ และนางหวังเหม่ยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ปี 2021
 
Dr. Locascio แถลงว่า นับตั้งแต่ที่ปธน.ไช่ฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันเป็นต้นมา ก็ได้มุ่งให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเห็นได้จากการจัดตั้งกระทรวงพัฒนาดิจิทัลของไต้หวันขึ้นเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลโจ ไบเดน ก็ยังได้ประกาศใช้ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ” (NCS) ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อความที่ระบุว่า การสร้างปฏิสัมพันธ์และประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ โดย Dr. Locascio หวังที่จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาดิจิทัลไต้หวัน และผู้นำแวดวงอุตสาหกรรมของไต้หวัน ในประเด็นแนวทางการประสานความร่วมมือและสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่มีศักยภาพที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ผ่านการประสานงานของสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) โดยหวังว่าจะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในหน่วยงานเอกชน หันมาเคารพมาตรฐานความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมไปถึงกฎกติกาและแนวทางที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ
 
Dr. Locascio กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา พวกเรายังได้ยกระดับกรอบความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity Framework) ของ NIST ก้าวขึ้นสู่กรอบความมั่นคงทางไซเบอร์ 2.0 เนื่องจากคาดหวังที่จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันในการกำหนดให้กรอบความร่วมมือนี้ เป็นอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการบริหารควบคุมและป้องกันความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ และผู้ใช้งานจากทุกพื้นที่ทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
Dr. Locascio กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางไซเบอร์ พร้อมทั้งมุ่งมั่นปกป้องประชาชนของตนเอง รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการแฮกข้อมูลหรือการถูกจับตามองที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงการล้วงความลับทางการค้าและการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล โดย Dr. Locascio เชื่อว่า จากการเดินทางมาเยือนไต้หวันของคณะในครั้งนี้ ไต้หวันจะได้รับยุทธศาสตร์และเครื่องมือที่จำเป็นในการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ ให้เกิดความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป