New Southbound Policy Portal

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ APF เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วันที่ 25 ก.ย. 66
 
นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นำคณะตัวแทน เข้าร่วมการประชุมประจำปีสำหรับสมาชิกของหน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions, APF) และการประชุมสัมมนาแบบทุกๆ สองปี ที่จัดขึ้น ณ กรุงนิวเดลีของอินเดีย ระหว่างวันที่ 19 – 23 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยนับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไต้หวันได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2020
 
หัวข้อในพิธีเปิดการประชุมทุกสองปีของ APF คือ “การฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งหลักการปารีส และครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” โดยมีการประชุมรวม 3 รายการ ประกอบด้วย “การพิจารณาทบทวนเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการส่งเสริมและหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” “การผลักดันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และคำมั่นที่ส่งเสริมเสรีภาพ ความเท่าเทียมและความยุติธรรมของทุกคน” และ “บทบาทสำคัญของหน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ—แผนปฏิบัติการในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ” โดยในระหว่างการประชุม ประธานเฉินฯ ได้กล่าวปราศรัยโดยชี้ว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยการก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไต้หวัน ได้รับการผลักดันโดยองค์การเอกชน จนถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2020 หลังจากที่มุ่งมั่นพยายามผลักดันมาเป็นเวลา 20 ปี โดยในระหว่างนี้ได้รับการสนับสนุนจาก APF และหน่วยงานสิทธิมนุษยชนจากนานาประเทศ ทำให้ไต้หวันรู้สึกขอบคุณด้วยใจจริง
 
ประธานเฉินฯ กล่าวอีกว่า หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนถูกก่อตั้งขึ้น ได้ดำเนินภารกิจตามจิตวิญญาณของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในปี 2022 รัฐบาลได้ทำการพิจารณาตรวจสอบรายงานแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CPC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ให้เดินทางมาร่วมตรวจสอบการดำเนินภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนและรายงานแห่งชาติในไต้หวัน พร้อมทั้งยื่นเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไขที่เป็นรูปธรรม โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ยื่นเสนอความคิดเห็นหลังการประเมิน โดยไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางเพศ การเข้าร่วมในระบบการเมืองของสตรี และการผ่านกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้กลุ่มรักเพศเดียวกันจดทะเบียยนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนยินดีที่จะร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานสิทธิมนุษชนทั่วโลก
 
ในระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายไต้หวันยังได้ร่วมจัดการประชุมอภิปรายกับ Mr. Kailash Satyrthi ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันในประเด็นปัญหาและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก ระหว่างอินเดีย – ไต้หวัน ตลอดจนร่วมอภิปรายเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นด้านมูลนิธิช่วยเหลือเด็กและการให้บริการของอาสาสมัครด้วย