New Southbound Policy Portal
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 29 ก.ย. 66
เพื่อขานรับต่อนโยบาย “6 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์” และ “โครงการอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2” ที่ผลักดันโดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นใหม่ๆ เข้าสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในสาขาต่างๆ และเพิ่มพูนทรัพยากรบุคคลที่เปี่ยมคุณภาพ จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญในขณะนี้ เพื่อช่วยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในสาขาต่างๆ ให้มาร่วมทำงาน กระทรวงเศรษฐการไต้หวันและสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) จึงได้ร่วมจัดตั้ง “คณะตัวแทนเพื่อดึงดูดบุคลากรจากสหรัฐฯ 2023” โดยได้นำกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันเดินทางไปจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โอกาสการทำงานในไต้หวัน ที่นครลอสแอนเจลิสและซานฟรานซิสโก ในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 28 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมเยือนสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง 3 แห่งในพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างการเชื่อมโยงด้านบุคลากรระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ
เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันในการดึงดูดบุคลากรชาวต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงเศรษฐการจึงได้จัดรวบรวมอุปสงค์ของผู้ประกอบการในประเทศ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โอกาสงานขึ้นในมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California, USC) และมหาวิทยาลัยซานโฮเซสเตท (San Jose State University, SJSU) โดยสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำนครลอสแอนเจลิสและซานฟรานซิสโก ได้เชิญสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึงสมาคมเทคโนโลยีและสมาคมศิษย์เก่า เข้ามีส่วนร่วม โดยกิจกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการประกอบธุรกิจ จำนวนกว่า 400 คนมาเข้าร่วม โดยมีการจับคู่เจรจาระหว่างผู้ประกอบการและบุคลากรจัดขึ้นเป็นจำนวนกว่า 1,000 รอบ คาดว่าจะสามารถช่วยให้เกิดการจับคู่ที่ลงตัวใน 190 รายการ
นอกจากนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งกลไกการดึงดูดบุคลากรอย่างมีระบบ ระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ คณะตัวแทนยังได้เข้าพบปะกับเจ้าหน้าที่ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ซึ่งเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแนวหน้า 30 อันดับแรกของสหรัฐฯ ที่ได้รับการคัดเลือกและประกาศโดย QS World University Rankings สถาบันวิเคราะห์ข้อมูลด้านการอุดมศึกษาระดับโลก เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรและกิจกรรมการดึงดูดบุคลากรที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ของแต่ละสถาบัน นอกจากนี้ คณะตัวแทนยังได้ชี้แจงจุดเด่นของแพลตฟอร์ม Contact TAIWAN ซึ่งมีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ข้อมูลโอกาสงานให้แก่กลุ่มนักศึกษา และส่งเสริมให้นักศึกษาลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการในการแสวงหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติตามความต้องการ โดยในระหว่างการเจรจาหารือ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายยังได้เสวนากันในประเด็นความเป็นไปได้ของการประสานความร่วมมือในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โอกาสการทำงานระหว่างกันในภายหน้าด้วย
คณะตัวแทนในครั้งนี้ได้รวบรวมผู้ประกอบการเข้าร่วม รวมจำนวน 23 ราย โดยมีตำแหน่งงานทั้งหมด 174 รายการ และต้องการบุคลากรเป็นจำนวน 350 คน โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ล้วนเป็นบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน อาทิ Delta , AUO Corporation , Foxconn Technology Group , Inventec , Wistron , ASUS , ACER , UMC และ Micron เป็นต้น
เนื่องจากผู้ประกอบการในไต้หวันส่วนมาก มีความต้องการหาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งสหรัฐฯ นับเป็นฐานสำคัญในการบ่มเพาะทรัพยากรบุคลากรทางเทคโนโลยี และเป็นรากฐานสำคัญในการจัดตั้งสถานประกอบการของนักลงทุนชาวไต้หวัน โดยกลุ่มผู้ประกอบการต่างกล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะตัวแทนครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้เจรจาเป็นรายบุคคลกับบุคลากรชั้นยอดและสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปี่ยมคุณภาพของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับการเจรจาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การพูดคุยกันในสถานที่จริงจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจต่อกัน ทั้งในด้านมุมมองของผู้ประกอบการและคุณสมบัติของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น