New Southbound Policy Portal

ปธน.และรองปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีประกาศผลและมอบรางวัล The Presidential Cultural Awards ครั้งที่ 12”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 17 ต.ค. 66
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี ได้เข้าร่วม “พิธีประกาศผลและมอบรางวัล The Presidential Cultural Awards ครั้งที่ 12” เพื่อให้การยกย่องแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล ที่ร่วมส่งเสริมการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ผ่านพลังแห่งวัฒนธรรม โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมของไต้หวันได้รับการพัฒนาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมสร้างมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไต้หวันให้คงอยู่สืบไป พร้อมนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังหวังที่จะเห็นผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่คนรุ่นหลัง เพื่อส่งเสริมให้เกิดศักยภาพทางวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทั่วโลก ถึงภาพลักษณ์ที่หลากหลายของพวกเรา
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า รางวัล The Presidential Cultural Awards ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว ในปีนี้ พวกเราตั้งปณิธานไว้ในหัวข้อว่า “ความรักของผืนแผ่นดิน ส่องสว่างหนทางข้างหน้า” โดยปธน.ไช่ฯ ได้อ้างอิงคำพูดของรองปธน.ไล่ฯ ที่เป็นประธานพิธีในครั้งนี้ ที่ได้มีการระบุไว้ว่า “วัฒนธรรมเป็นจิตวิญญาณของประเทศชาติ เป็นรากเหง้าของพวกเรา”
 
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า ผู้ได้รับรางวัลรวม 5 กลุ่มในครั้งนี้ ล้วนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิหลังที่แตกต่างกัน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การมุ่งส่งเสริมนัยยะทางจิตวิญญาณและวัฒธรรมที่ล้ำลึกให้แก่ผืนแผ่นดินแห่งนี้ โดยรายชื่อผู้ครองรางวัลทั้ง 5 ประเภท มีดังนี้ :
 
ประเภทแรก “รางวัลบ่มเพาะวัฒนธรรม” ผู้ได้รับรางวัล คือ อ.เลี่ยวฉงจือ (Liao Chiung-chih) ที่มุ่งอุทิศคุณประโยชน์ในด้านการแสดงอุปรากรจีนเสมอมา ทั้งเสียงร้องที่ก้องกังวานและรูปร่างงดงามอ่อนช้อยของอ.เลี่ยวฯ ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น  “นางเอกแห่งโศกนาฏกรรมอันดับ 1 ของไต้หวัน” ซึ่งนอกจากอ.เลี่ยวฯ จะมีผลงานการแสดงที่หลากหลายแล้ว ยังมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมการแสดงงิ้วของไต้หวัน ด้วยการจัดตั้งคณะอุปรากร Shintrun Taiwanese Opera Troupe ขึ้น และออกตระเวณจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจในทั่วทุกพื้นที่ ตลอดจนยังเป็นผู้ริเริ่มวางแผนแม่บททางการแสดงอุปรากรระดับมือออาชีพ ที่มีความครอบคลุมสมบูรณ์
 
ประเภทที่ 2 “รางวัลความหวังของพื้นที่” ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ “สมาคมพัฒนากลุ่มชนคาวาลันเมืองฮัวเหลียน” ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นฟื้นฟูวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาวคาวาลัน โดยทางสมาคมฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาสิ่งทอจากใยกล้วยประจำหมู่บ้านซินเซ่อ” เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าผ้าทอที่ทำจากใยกล้วย ซึ่งเป็นผลงานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิม และเป็นวัสดุที่มีต้นกำเนิดจากธรรมชาติ โดยผู้คนภายนอกสามารถเข้าสัมผัสกับวัฒนธรรมสิ่งทอจากใยกล้วยที่มีความพิเศษไม่เหมือนใครที่เดียวในโลก ในศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาฯ ที่มุ่งมั่นสืบสานงานหัตถศิลป์ดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่ต่อไป
 
ประเภทที่ 3 “รางวัลคุณประโยชน์ด้านมนุษยธรรม” ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ “สมาคมพี่น้องผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งไต้หวัน” โดยสมาคมฯ นี้ ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว นอกจากจะช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ของกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานและแรงงานต่างชาติแล้ว ยังส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมเกิดความเข้าใจต่อวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ผ่านสื่อสารสนเทศที่หลากหลาย ซึ่งสมาคมข้างต้นเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับการได้รับยกย่องเชิดชูในครั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคต สมาคมฯ จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ให้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนในทุกแวดวงสาขาอย่างสุดความสามารถต่อไป
 
ประเภทที่ 4 “รางวัลความคิดสร้างสรรค์เยาวชน” ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ อ.จางสวีจ่าน ที่นอกจากจะมุ่งสืบสานผลงานประติมากรรมกระดาษแล้ว ยังคิดริเริ่มผลงานศิลปะรูปแบบแอนิเมชันด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดย อ.จางฯ ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคหัตถศิลป์ที่สืบต่อมาจากในครอบครัว ซึ่งเขาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว พร้อมแต่งแต้มด้วยองค์ประกอบจากความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างผลงานอันยอดเยี่ยม ซึ่งประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัลจากทั้งในและต่างประเทศมาครอง โดยนอกจากจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่มีโอกาสได้ชมจากทั่วโลกแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้คนประจักษ์เห็นถึงความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดของศิลปะอีกด้วย
 
ประเภทสุดท้าย “รางวัลการปฏิรูปทางสังคม” ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ รายการโทรทัศน์ “เกาะของพวกเรา” (Our Island) ที่ถ่ายทำโดยสถานีโทรทัศน์ PTS ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ทีมงานได้พลิกฟื้นความห่วงใยที่มีต่อผืนดินออกมาเป็นเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีการออกอากาศรวมมากกว่า 1,000 ตอน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “เกาะของพวกเรา” จะมุ่งมั่นในการสร้างอิทธิพลต่อสังคมในฐานะสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง