New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ นสพ. ของออสเตรเลีย เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยเฝ้าจับตาต่อการที่จีนใช้วิธีการพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ มาบีบคั้นไต้หวันอย่างรุนแรงในทางอ้อม

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 ต.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Michael Smith ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Australian Financial Review ของออสเตรเลียประจำภูมิภาคเอเชียเหนือที่ประจำการอยู่ในโตเกียว โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านการตีพิมพ์เป็นบทความในหน้าหนังสือพิมพ์และบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมาในหัวข้อ “ไต้หวันเตือนให้ Mr. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย รับรู้ถึงเป้าหมายของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีน” (Taiwan warns Albanese on Xi agenda) ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวงในออสเตรเลีย
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ชาวไต้หวันต่างสัมผัสได้ว่า จีนกำลังสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจและข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งใช้ข่าวปลอมในการเข้าแทรกแซงสังคมไต้หวันและการเลือกตั้งของไต้หวันที่กำลังจะจัดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยประชาชนชาวไต้หวันต่างให้ความสำคัญและรู้สึกหวงแหนวิถีรูปแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน จึงมุ่งธำรงรักษาสถานภาพเดิมที่มีอยู่ โดยพวกเรายินดีประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวัน - ออสเตรเลีย ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกติกาสากล โดยทั้งสองฝ่ายต่างมีแนวคิดคล้ายคลึงกันในประเด็นสถานการณ์การเข้ารุกรานยูเครนของรัสเซีย และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางในระยะนี้ ประกอบกับรัฐบาลออสเตรเลีย มุ่งเน้นให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการแสดงจุดยืนว่าด้วยความมั่นคงและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมสองฝั่งช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นไต้หวันจึงถือว่าออสเตรเลียเป็นมิตรสหายที่แท้จริง
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลีย เป็นไปในเชิงลึกเสมอมา ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 และเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของออสเตรเลีย ตลอดระยะที่ผ่านมานี้ ไต้หวันมีเป้าหมายที่จะเข้ามีส่วนร่วมใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) และได้เตรียมพร้อมแล้ว จึงคาดหวังที่จะมีโอกาสเปิดการเจรจากับประเทศสมาชิกโดยเร็ววัน ไต้หวันขอขอบคุณออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและแคนาดา สำหรับการตอบรับต่อข้อเรียกร้องของไต้หวันในเชิงบวก พร้อมทั้งหวังว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็จะทำการพิจารณาเงื่อนไขของไต้หวัน เพื่อร่วมประเมินว่าไต้หวันมีคุณสมบัติในการเข้ามีส่วนร่วมภายใต้กลไกความร่วมมือข้างต้นได้หรือไม่ หากแต่มิใช่การกีดกันไต้หวันด้วยเหตุผลทางการเมืองที่มาจากการยุยงโดยจีน
 
ต่อกรณีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลียหลังจากที่นรม. Anthony Albanese เดินทางเยือนประเทศจีนนั้น รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ว่า ไต้หวันมีทัศนคติที่เปิดกว้าง ซึ่งนอกจากจะเคารพแนวทางที่ออสเตรเลียต้องการจะปรับปรุงพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแล้ว ยังรู้สึกหวังดีต่ออีกฝ่าย ด้วยการเตือนให้ออสเตรเลียระวังความทะเยอทะยานของจีนที่มีอยู่เสมอมา ซึ่งพวกเราจึงจำเป็นต้องเฝ้าจับตาต่อพฤติกรรมของจีนว่า จีนจะอาศัยการพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ มาเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันหรือไม่ รมว.อู๋ฯ จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกอย่าได้ล้มเลิกความสนับสนุนที่มีต่อความมุ่งมั่นพยายามของไต้หวันที่จะประคับประคองสถานการณ์ในปัจจุบัน เพียงเพราะเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันยินดีที่เห็นว่าออสเตรเลียให้ความสำคัญกับด้านกลาโหมและสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเร่งเสริมสร้างศักยภาพในการสกัดกั้นการข่มขู่ทางทหารในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ผ่านกลไก “ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย” (AUKUS) รมว.อู๋ฯ ตอบข้อซักถามว่า หากวันใดที่จีนใช้กำลังอาวุธต่อไต้หวันจริง ไต้หวันจะรับผิดชอบภาระหน้าที่ด้านการป้องกันประเทศอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการแนะนำให้ออสเตรเลียประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อใช้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเหนียวแน่น มารับมือกับความคิดที่จะใช้กำลังทหารของจีน
 
ต่อประเด็นสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อการให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้น รมว.อู๋ฯ เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะเฝ้าจับตาสถานการณ์ในอินโด - แปซิฟิก และการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียรุกรานยูเครนมาจนปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่เคยลดทอนการให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงของไต้หวันลงเลย อันจะเห็นได้จากเมื่อช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ ยื่นเสนอญัตติกฎหมายว่าด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือให้อิสราเอล ยูเครนและไต้หวัน รวมมูลค่าสูงถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้รัฐสภาสหรัฐฯ เร่งดำเนินการพิจารณาต่อไป