New Southbound Policy Portal
กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 2 พ.ย. 66
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment, MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมการตรวจสอบเครือข่ายสังเกตการณ์ละอองลอยอัตโนมัติ (AERONET) ประจำภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก” (Asia Pacific AERONET Calibration and Training Center, APAC) ในไต้หวัน ซึ่งการที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ ให้การยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบของไต้หวัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมจัดตั้งแพลตฟอร์มซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในด้านการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล เพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านการยกระดับความแม่นยำของข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
นายเซวียฟู่เซิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน กล่าวว่า นอกจากศูนย์ APAC จะช่วยเพิ่มความแม่นยำของเครื่องวัดความเข้มแสง ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียอาคเนย์แล้ว ยังจะประสานความร่วมมือกับ MOENV กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์อวกาศแห่งชาติ (TASA) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีคุณค่าในการนำไปใช้อ้างอิงให้แก่ประชาคมโลก รมว.เซวียฯ กล่าวด้วยว่า สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศลู่หลินของ MOENV องค์การ NASA กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์อวกาศแห่งชาติ ต่างประสานความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยนโยบายการป้องกันมลภาวะทางอากาศที่หน่วยงานรัฐบาลในแต่ละพื้นที่ของไต้หวันกำหนดขึ้น ต่างได้รับอานิสงส์มาจากข้อมูลเหล่านี้ หลังจากที่ศูนย์ APAC ได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว ไต้หวันจะพลิกบทบาทจากผู้รับประโยชน์มาเป็นผู้อุทิศคุณประโยชน์ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการชี้แนะแนวทางการบริหารควบคุมมลภาวะทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในระดับภูมิภาค ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถยกระดับสถานภาพของไต้หวันในเวทีนานาชาติ ควบคู่ไปในตัว
นายเฉิงเจียผิง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ตลอดที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาและ MOENV ได้มุ่งประสานความร่วมมือในด้านคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคาดการณ์ดัชนีคุณภาพอากาศและการตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากฝุ่น PM 2.5 พร้อมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้น โดยในระหว่างนี้ ได้มีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของ NASA การเปรียบเทียบข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลภาคพื้นดิน ซึ่งจะสามารถยกระดับความแม่นยำที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการตรวจสอบ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบระดับภูมิภาค โดยอธิบดีเฉิงฯ เห็นว่า หลังจากที่ศูนย์ APAC ก่อตั้งขึ้นเสร็จสมบูรณ์ นักวิชาการไต้หวันจะยิ่งมีความมั่นใจต่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพการวิจัย บ่มเพาะบุคลากรความเชี่ยวชาญให้เปี่ยมด้วยศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติด้านการวิจัยแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อีกด้วย
“Yes, Taiwan can help!” นายอู๋จงซิ่น ผู้อำนวยการ TASA กล่าวว่า TASA เป็นหน่วยงานที่ได้รับอานิสงส์จากเทคโนโลยี AERONET อันจะเห็นได้จากความแม่นยำของข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ได้จากดาวเทียม Formosat-5 ก็ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีข้างต้น โดยในอนาคต พวกเราจะยังคงประสานความร่วมมือในเรื่องดาวเทียม Formosat-8 อย่างใกล้ชิดให้มากยิ่งขึ้น
MOENV แถลงว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีในการตรวจสอบคุณภาพอากาศของไต้หวัน มีบทบาทสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเขีย - แปซิฟิก โดยอุปกรณ์เครื่องวัดความเข้มของแสงที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใช้อยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องส่งกลับไปปรับความแม่นยำที่ NASA เป็นประจำทุกปี โดย NASA คาดหวังว่า การจัดตั้งศูนย์ APAC เพื่อให้บริการแก่กลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียในไต้หวัน จะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระหว่างการขนส่งและช่วยประหยัดค่าขนส่งอุปกรณ์ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการขยายขอบเขตจำนวนสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ พร้อมคาดหวังที่จะเห็นไต้หวันมีบทบาทสำคัญในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง APAC ในระดับภูมิภาคต่อไป
นายเซี่ยปิ่งฮุย อธิบดีกรมตรวจสอบข้อมูล ภายใต้ MOENV วิเคราะห์ว่า การที่ศูนย์ APAC เลือกจัดตั้งขึ้นในไต้หวัน ผลสืบเนื่องมาจากผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือระยะยาว รวมถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีและความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาของไต้หวันที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ประกอบกับไต้หวันมีข้อได้เปรียบในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3000 เมตรในหลายพื้นที่ โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศลู่หลินของ MOENV ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเงื่อนไขการจัดตั้งศูนย์ APAC โดยภารกิจการซ่อมบำรุง AERONET จำเป็นต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มการซ่อมบำรุงในพื้นที่กลางแจ้ง ที่มีภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่ปราศจากมลพิษและมีความปลอดโปร่ง โดยในอนาคต ภารกิจการซ่อมบำรุง AERONET ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของศูนย์ APAC โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงาทงสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยอธิบดีเซี่ยฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้น ช่วงปีแรกนี้ คาดว่าจะสามารถซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ได้ในสัดส่วนจำนวน 20 ชุด โดยขณะนี้ มีอุปกรณ์ที่ทยอยส่งมาทำการปรับความแม่นยำในไต้หวันเป็นจำนวนกว่า 50 – 60 ชุด ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต โดย MOENV จะอัดฉีดทรัพยากรในการพัฒนาให้เกิดความแม่นยำอย่างต่อเนื่องสืบไป
MOENV ชี้ว่า นอกจากศูนย์ APAC จะส่งมอบการบริการการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องมือแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพข้อมูล AERONET อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมทักษะวิชาชีพให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยส่งเสริมความแม่นยำในการประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างประเทศ โดยข้อมูลที่ได้จาก AERONET จะถูกนำไปใช้ในด้านการวิจัยคุณภาพอากาศทั่วโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและการเข้าร่วมในด้านการตรวจสอบดัชนีสิ่งแวดล้อมของไต้หวันอย่างยั่งยืนต่อไป