New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 พ.ย. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิด “การเสวนาความมั่นคงกรุงไทเป 2023” (2023 Taipei Security Dialogue) โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ความมั่นคงของไต้หวันและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและทั่วโลก มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง ประชาชนชาวไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ได้มาอย่างยากลำบาก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ ไต้หวันจะมุ่งมั่นธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขยายและเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในด้านต่างๆ ที่แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการรักษาคำมั่นว่าด้วยการยืนหยัดในระบอบประชาธิปไตย เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคงที่เชื่อถือได้
ปธน.ไช่ฯ แสดงทรรศนะว่า ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันที่ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเผชิญกับบททดสอบอย่างหนักในทศวรรษนี้ พวกเรามุ่งประสานสามัคคีในการสกัดกั้นลัทธิอำนาจนิยมและพฤติกรรมการรุกรานในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างอนาคตที่เปี่ยมสันติภาพ และสืบสานค่านิยมที่พวกเรายึดมั่นร่วมกันให้คงอยู่สืบไป
คำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้ :
ปัจจุบัน พวกเราอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความผกผันและไม่แน่นอน หลายปีมานี้ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีความรุนแรง และสถานการณ์โรคระบาดที่ไม่เคยประสบมาก่อน ได้ทำลายเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจโลก และเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ
ขณะนี้ ยูเครนยังคงมุ่งสกัดกั้นการรุกรานจากรัสเซียอย่างหนักแน่น ประกอบกับพื้นที่ตะวันออกกลางก็ยังปะทุความขัดแย้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ พวกเราจึงไม่สามารถมองว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามปกติได้อีกต่อไป
เพื่อสร้างหลักประกันให้ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบ ท่ามกลางยุคสมัยที่ไร้ซึ่งเสถียรภาพเช่นนี้ พวกเรายิ่งจำเป็นต้องยึดมั่นในการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย “กลยุทธ์พื้นที่สีเทา” ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งรวมไปถึงภัยคุกคามในน่านน้ำทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก
ไต้หวันยังคงต้องประสบกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน ต้องถูกรุกล้ำจากประเทศภายนอกอยู่เสมอ รวมถึงการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการโจมตีทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง กล่าวโดยสรุปคือ วิธีการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไต้หวันที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และลดทอนความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้ ประชาคมโลกก็ยังคงประกาศสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างหนักแน่น ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พวกเราเป็นอย่างมาก
ในเดือนพ.ค. ปีนี้ เหล่าผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ (G7) ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุมในนครฮิโรชิมะ โดยระบุจุดยืนแน่ชัดว่า “สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก” และเมื่อเดือนที่แล้ว ในระหว่างที่ Mr. Anthony Norman Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเดินทางเยือนสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศจุดยืนร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ว่า พวกเราต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว
รัฐบาลไต้หวันได้จัดสรรงบประมาณทางกลาโหมเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปีแล้ว โดยปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ร้อยละ 7.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของ GDP ไต้หวันด้วย
ในช่วงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา “เรือดำน้ำที่ผลิตในประเทศ” ของพวกเรา ก็ได้ทำการจัดพิธีลงน้ำอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นหลักชัยใหม่ของโครงการเรือรบที่ผลิตในประเทศของกองทัพเรือ นอกจากจะมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพในการรับมือกับภัยสงครามแล้ว ไต้หวันยังต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อันจะเห็นได้จากการที่ประเทศลัทธิอำนาจนิยม อาศัยข่าวปลอมในการทำสงครามจิตวิทยา เพื่อสร้างความแตกแยกในสังคมเสรีภาพและประชาธิปไตยของไต้หวัน
ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย แนวทางการรับมือต่อข่าวปลอมของไต้หวัน จึงสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยรัฐบาลไต้หวันได้เสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อและช่องทางในการแจ้งรายงานตรงต่อหน่วยงานภาครัฐ ในกรณีที่ได้รับข่าวปลอมหรือข่าวที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาจุดสมดุลระหว่างการรับข้อมูลข่าวสารอย่างอิสรเสรี และปฏิเสธการถูกลวงหลอกโดยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ พวกเรายังเร่งเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางสังคม ผ่านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารกองหนุนและการผนึกกำลังของภาคประชาชน ซึ่งพวกเราอาศัยนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมรอบด้าน ในการเสริมสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งและศักยภาพทางกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเอง ซึ่งประชาชนชาวไต้หวันต่างตระหนักดีว่า การปกป้องประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะต่อตนเอง ประเทศรายรอบหรือหุ้นส่วนทางความร่วมมือทั่วโลก
ในช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังเสร็จสิ้นการประชุม “การเสวนาทางความมั่นคงกรุงไทเป 2023” ปธน.ไช่ฯ ก็ได้ให้การต้อนรับ Mr. John Whitley อดีตรักษาการผู้บัญชาการทหารบกของสหรัฐฯ และคณะตัวแทน ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในระยะนี้ โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศแนวหน้าในการปกป้องประชาธิปไตย หลายปีมานี้ ไต้หวันมุ่งธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างหนักแน่น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไต้หวันมีความสามารถและยินดีที่จะอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีในประเด็นที่หลากหลาย พร้อมทั้งประสานความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศชาติซึ่งกันและกัน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า หลายปีมานี้ ไต้หวันมุ่งขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ก็มีส่วนร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุม ที่จัดขึ้นภายใต้กรอบ GCTF เพื่อร่วมกันรับมือกับประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
Mr. Whitley กล่าวว่า ก่อนการออกเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ตนได้ถามไถ่มิตรสหายและเพื่อนร่วมงานในแวดวงกลาโหมว่า มีข้อความใดที่ต้องการให้ตนส่งผ่านไปสู่เจ้าหน้าที่ภาครัฐไต้หวันหรือไม่ ประการแรก ทุกคนต่างเน้นย้ำว่าเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความประทับใจต่อพัฒนาการและความก้าวหน้าของไต้หวันเป็นอย่างมาก ทั้งการปฏิรูปทางกลาโหม เช่น การเพิ่มงบประมาณและการเสริมสร้างการฝึกอบรม รวมไปถึงความคืบหน้าทางด้านการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร
ประการที่ 2 คือความสำคัญในการมุ่งพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ไต้หวันเตรียมเปิดการเลือกตั้งขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ล้วนให้การชื่นชมยอมรับต่อประชาธิปไตยที่ได้รับการพัฒนาให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน และตระหนักเห็นว่า การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนนี้ก็เป็นไปในทิศทางเชิงบวกที่ดี อย่างไรก็ตาม จะทำอย่างไรให้การหมุนเวียนเปลี่ยนผันเหล่านี้เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ เพื่อเป็นหลักอ้างอิงให้แก่ผู้นำประเทศในอนาคต นำไปพัฒนาต่อยอด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
Mr. Whitley ย้ำว่า นอกจากคณะตัวแทนที่มาจากสหรัฐฯ และนานาประเทศทั่วโลก จะมาเยี่ยมเยือนไต้หวันในฐานะมิตรสหายแล้ว ยังหวังที่จะสร้างความร่วมมือในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง โดยพลังสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีให้แก่ไต้หวันในด้านการเมืองและการทหาร ส่วนหนึ่งก็ยังคงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนด้วยตนเองของไต้หวัน หากเกิดสถานการณ์ทางการทหาร ไต้หวันจำเป็นต้องมีศักยภาพเบื้องต้นในการรับมือ แม้ว่าในปัจจุบัน พวกเราจะตกอยู่ในสถานการณ์การแข่งขัน แต่การมุ่งแสวงหาความร่วมมือจากมิตรประเทศ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน มาตรการต่างๆ ที่ไต้หวันมุ่งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหม เป็นสัญญาณแจ้งเตือนในการพัฒนาแนวทางการสนับสนุนไต้หวันของเจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
Mr. Whitley ชี้ว่า เราสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการฝึกอบรมร่วมกัน การฝึกอบรมระหว่างมิตรประเทศ สามารถเพิ่มวามเชื่อมั่นระหว่างกันได้ และเป็นการเสริมสร้างให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายมีความแนบแน่นใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ Mr. Whitley จึงคาดหวังที่จะผูกสัมพันธ์กับมิตรประเทศในภูมิภาค และจัดตั้งความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตระเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนี่เป็นแนวคิดด้านความมั่นคงในอนาคตจากมุมมองของ Mr. Whitley