New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมงานแถลงข่าวก่อนออกเดินทางของคณะตัวแทนเพื่อเข้าร่วมการประชุม AELM ประจำปี 2023

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 พ.ย. 66
 
“การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค” (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ประจำปี 2023 มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ เมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 17 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวก่อนออกเดินทางของคณะตัวแทน เพื่อเข้าร่วมการประชุม AELM โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบเอเปค เป็นครั้งที่ 6 แล้ว
 
ปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็นดร.จางฯ ส่งผ่านข้อความ 4 ประการต่อเหล่าประเทศสมาชิกเอเปคและประชาสังคมให้ร่วมรับทราบโดยถ้วนหน้าว่า (1) ไต้หวันจะมุ่งมั่นส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง (2) ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและทรหด (3) ไต้หวันจะมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงสิทธิแรงงานและกลุ่มสตรี และ (4) ไต้หวันยินดีที่จะอุทิศทรัพยากรให้แก่เอเปคในหลังจากนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยปธน.ไช่ฯ แสดงจุดยืนอย่างแน่ชัดว่า ไต้หวันมีความสามารถและยินดีที่จะอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจากประสบการณ์ของดร.จางฯ จะนำพาให้ไต้หวันและกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปค ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการเปิดบริบททางความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกันในเชิงลึกอีกด้วย
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้ :
 
APEC เป็นหน่วยงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และเป็นเวทีการเสวนาของนานาประเทศ โดยในปัจจุบัน กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ต้องเผชิญกับปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหัวข้อของการประชุมเอเปคประจำปีนี้คือ "การเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนเพื่ออนาคตสำหรับทุกคน" (Creating a Resilient and Sustainable Future for All) โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (interconnected) นวัตกรรม (innovative) และการยอมรับซึ่งกันและกัน (inclusive) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะบรรลุวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป
 
โดยข้อความทั้ง 4 ประการที่ปธน.ไช่ฯ มอบหมายให้ดร.จางฯ ส่งผ่านไปสู่ตัวแทนประเทศสมาชิกเอเปคและประชาคมโลก มีสาระสำคัญที่สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้ :
 
(1) ไต้หวันจะมุ่งมั่นส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างประสบกับความท้าทายนานาประการ พวกเราจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่น เพื่อลดความขัดแย้งในภูมิภาค และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เปี่ยมด้วยสันติภาพและเสถียรภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ไต้หวันถือเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่เชื่อถือได้ มีความมั่นคงและไว้วางใจได้ของประชาคมโลก พวกเราจะอุทิศคุณประโยชน์ด้านสันติภาพและการพัฒนาให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องสืบไป

(2) ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและทรหด

ความรู้ความเชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไต้หวันมีอยู่ มีส่วนช่วยในการสร้างเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก พวกเรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์การบ่มเพาะบุคลากร และแนวทางการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์แก่เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พวกเราเชื่อว่า การประสานความร่วมมือระหว่างกัน จะทำให้จุดเด่นของแต่ละฝ่าย สามารถแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ เพื่อร่วมสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและทรหด

(3) ไต้หวันจะมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงสิทธิแรงงานและกลุ่มสตรี

พวกเราจะอาศัยนโยบายและและแนวทางการปฏิบัติที่เปี่ยมวิสัยทัศน์และมีประสิทธิภาพ มากระตุ้นการพัฒนาระหว่างไต้หวันและภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ให้เกิดความสมดุล

(4) ขอเรียกร้องให้เขตเศรษฐกิจทั่วโลก มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ในระหว่างการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจผ่านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

โดยไต้หวันยินดีที่จะอุทิศทรัพยากรให้แก่เอเปคในหลังจากนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
 
ดร.จางฯ กล่าวตอบรับความคาดหวังของปธน.ไช่ฯ โดยชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้ :

(1) ไต้หวันจะมุ่งมั่นส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ดร.จางฯ เชื่อว่า คงไม่มีประเทศสมาชิกเอเปคหรือหน่วยงานใด ที่ต่อต้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

(2) ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและทรหด ซึ่งเป็นส่วนที่ไต้หวันมุ่งผลักดันเสมอมาอย่างเต็มที่ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยพวกเรายังคงอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ทั้งในไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและทรหด

(3) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงสิทธิแรงงานและกลุ่มสตรี ซึ่งเป็นอีกประเด็นหลักที่ไต้หวันกำลังมุ่งมั่นปฏิบัติการ โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว พวกเรามีเป้าหมายที่แน่ชัดอย่างเป็นรูปธรรมหลายรายการ โดยดร.จางฯ จะพยายามอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อเหล่าผู้นำเอเปคต่อไป

(4) การมุ่งบรรลุเป้าหมายขจัดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ในระหว่างการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจผ่านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ในระหว่างการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council, ABAC) ในครั้งนี้ นายจางเจียหยวน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Quanta Computer ของไต้หวัน ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการไต้หวัน จะเปิดหลักสูตรฝึกอบรมในหัวข้อ “Do AI Yourself” เพื่อถ่ายทอดสาระที่เป็นประโยชน์แก่เหล่าตัวแทนจากประเทศในเขตเศรษฐกิจเอเปค นอกจากนี้ ดร.จางฯ ยังได้ประกาศต่อกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคด้วยว่า หากมีความประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือ ไต้หวันยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับทุกประเทศด้วยความเต็มใจ
 
โดยดร.จางฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนจะมุ่งมั่นบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากปธน.ไช่ฯ อย่างเต็มกำลัง