New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 66
เพื่อจัดตั้งเวทีการเสวนาแลกเปลี่ยน ระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “การประชุมสัมมนาผู้นำ NGO 2023” โดยได้เชิญผู้นำองค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (INGO) ระดับแนวหน้า เดินทางมาร่วมเป็นผู้บรรยายในไต้หวัน ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย Dr. Liberato Bautista ประธาน “การประชุมองค์การนอกภาครัฐที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษาภายใต้ระบบสหประชาชาติ” (Conference of NGOs in Consultative Relationship with the United Nations, CoNGO) และ Ms. Denise Scotto รองประธานสมาพันธ์นักกฎหมายหญิงนานาชาติ (International Federation of Women in Legal Careers, FIFCJ) รวมไปถึงการจัดการแลกเปลี่ยนและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรดาผู้นำ NGO จากทั้งในและต่างประเทศ และเจ้าหน้าปฏิบัติงานจำนวนกว่า 200 คน ส่งผลให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก
หัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “การเสริมสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มพันธมิตรที่ยึดมั่นในค่านิยมสากลเดียวกัน : การผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างสังคมโลก” (Allied by Universal Values: Strengthening Partnerships between Taiwan’s Government, NGOs and Global Civil Society) โดยนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวระหว่างพิธีเปิดการประชุมว่า ไต้หวันเป็น “พลังแห่งความดี” (force for good) ของโลก พร้อมมุ่งมั่นบรรลุค่านิยมสากลด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เช่น หลังเกิดการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด – 19 ไต้หวันเป็นประเทศแรกที่บริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาคมโลก และหลังการปะทุขึ้นของสงครามรัสเซีย – ยูเครน ไต้หวันก็ได้ระดมและบริจาคสิ่งของจำเป็นอย่างกระตือรือร้น เพื่อส่งมอบความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รมว.เถียนฯ เน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐและ NGO เป็นหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่น จึงจำเป็นต้องประสานสามัคคีและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนส่งเสริมให้ร่วมธำรงปกป้องค่านิยมสากลระหว่างกัน
Dr. Bautista แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ความเสี่ยงและโอกาสขององค์การนอกภาครัฐที่จะมีส่วนร่วมในระบบพหุภาคีและกระบวนการโลคัลไลเซชันทั่วโลก” (The Perils and Possibilities of Non-Governmental Access to the Premises and Promises of the Multilateral System and the Glocal Agenda) โดย Dr. Bautista เน้นย้ำว่า UN ควรสร้างหลักประกันให้ NGO สามารถเข้าร่วมในเวทีนานาชาติได้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และพลังขององค์กร ในการจัดตั้งชุมชนระดับโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและความยุติธรรม ตลอดจนยึดมั่นในหลักการไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง (leave no one behind)
สำหรับหัวข้อการแสดงปาฐกถาของ Ms. Scotto รองประธานสมาพันธ์นักกฎหมายหญิงนานาชาติ คือ “ส่งเสริมให้สังคมพัฒนาก้าวหน้า ด้วยสิทธิความเสมอภาคทางเพศ” (Rising Societies: Through Pathways of Gender Equality) โดย Ms. Scotto ได้ยกย่องว่า ไต้หวันเป็นผู้นำในการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคทางเพศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ Ms. Scotto ยังได้แบ่งปันข้อคิดที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่จัดโดยกต.ไต้หวัน อีกทั้งยังเข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณา “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” (CEDAW) ของไต้หวันในปี 2014 โดย Ms. Scotto เน้นย้ำว่า สิทธิของสตรีก็คือสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญต่อพลังสตรี โดยหวังที่จะเห็นกลุ่มสตรีสวมบทบาทผู้นำและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
“การประชุมผู้นำ NGO” ที่กต.ไต้หวันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเวทีการเสวนาสาธารณะผ่านการประชุม เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่ NGO ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนของภาคประชาสังคมในเชิงลึก ตลอดจนเป็นการกระตุ้นศักยภาพการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของ NGO ไต้หวันอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย