New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์ในการประชุม DealBook Summit ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ The New York Times

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 30 พ.ย. 66
 
ในช่วงก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุม DealBook Summit ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยปธน.ไช่ฯ ได้ตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
 
การประชุม DealBook Summit เป็นการประชุมประจำปีของนสพ. The New York Times โดยในทุกปีจะเชิญผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ธุรกิจและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลสำคัญระดับโลก เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมอง โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์การแสดงศิลปะลินคอล์น ในวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Ms. Kamala Harris รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ Mr. Kevin McCarthy อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ และ Mr. Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ต่างก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
 
สาระสำคัญในคำสัมภาษณ์ของปธน.ไช่ฯ มีดังนี้ :
ถาม : ขอเริ่มต้นคำถามจากประเด็นที่ทุกคนรู้สึกฉงนใจ หลังการพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเมื่อช่วงที่ผ่านมา อยากทราบว่า ขณะนี้ ท่านได้ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงต่อกรณีที่จีนจะรุกรานไต้หวันไว้อย่างไร ?
 
ปธน.ไช่ฯ : ไต้หวันประสบกับภัยคุกคามที่เกิดจากการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร กลยุทธ์พื้นที่สีเทา การโจมตีทางไซเบอร์และการควบคุมข้อมูลสารสนเทศ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ประชาชนชาวไต้หวันก็สามารถรับมือต่อกรณีข้างต้นได้อย่างสงบ จนทำให้มีคำวิจารณ์ว่า “พวกเราใจเย็นเกินกว่าเหตุ” แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ประชาชนชาวไต้หวันต่างตระหนักดีถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และพวกเรายังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความทรหดในสังคมให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
 
ข้าพเจ้าทราบดีว่า ทุกคนต่างให้ความสนใจไปเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่อาจเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น โดยในระหว่างการพูดคุยของ 2 ผู้นำสหรัฐฯ - จีน ในช่วงที่ผ่านมา ปธน.สีฯ ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่า ประชาคมโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่เปี่ยมสันติภาพและเสถียรภาพ สอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย
 
ด้วยเหตุนี้ ในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ด้วยการผนึกกำลังของกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน จึงบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้ชัด โดยความคืบหน้าเหล่านี้สามารถเห็นได้จากการประกาศแถลงการณ์ฉบับต่างๆ ในการประชุมแบบทวิภาคีหรือพหุภาคี อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำที่แคมป์เดวิด และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว
 
ถาม : แต่ถึงกระนั้น ปธน.สีฯ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนการครอบครองไต้หวัน และต้องการเข้าผนวกรวมด้วยสันติวิธี หากเกิดขึ้นจริง ท่านคิดว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไป ?
 
ปธน.ไช่ฯ : ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของจีนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากความขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ขณะนี้ มิใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่พวกเขาจะเปิดศึกกับไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ
 
ถาม : เหตุอันเนื่องมาจากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จีนประสบอยู่ในปัจจุบัน ใช่หรือไม่ ?
ปธน.ไช่ฯ : ไม่ใช่ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเหตุอันเนื่องมาจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเงินและการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างเรียกร้องและประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า สงครามมิใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม สันติภาพและเสถียรภาพ จึงจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วน
 
ถาม : ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การผลิตแผ่นชิปวงจรรวมของไต้หวัน มีความสำคัญต่อทั่วโลกเป็นอย่างมาก รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของปธน.ไบเดน ได้กำหนดให้การโยกย้ายการผลิตแผ่นชิปวงจรรวมบางส่วนกลับสู่สหรัฐฯ เป็นภารกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ จึงอยากทราบความเห็นของท่านว่า สถานการณ์ข้างต้นนี้จะเป็นการส่งผลกระทบระยะยาวต่อความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนและนัยยะทางความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในอนาคตอย่างไร ?
 
ปธน.ไช่ฯ : ขณะนี้ พวกเราได้จัดตั้งโรงงานผลิตแผ่นชิปวงจรรวมบางส่วนในสหรัฐฯ ก็เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศในการจัดตั้งความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน พวกเรายังสามารถประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันของสหรัฐฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคลและบุคลากรอันยอดเยี่ยม
 
ถาม : ในมุมมองระยะยาว ท่านรู้สึกกังวลต่อความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจลดความสำคัญของไต้หวันในด้านความสัมพันธ์แบบทวิภาคีหรือไม่? หากในอนาคตที่จีนต้องการเข้ายึดและควบรวมไต้หวัน สหรัฐฯ อาจไม่ยื่นมือเข้าช่วย หรืออาจจะมีการใช้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นการดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นหรือไม่ ?
 
ปธน.ไช่ฯ : คุณค่าของพวกเรามิได้มีเพียงเฉพาะด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น เพียงแค่ขณะนี้ยังไม่มีที่ใดในโลกที่สามารถทดแทนระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์ของพวกเราได้ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมีความเชื่อมั่นว่า ไม่มีที่ใดที่สามารถทดแทนศักยภาพการผลิตและความสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เฉกเช่นในไต้หวัน
 
ถาม :  ขอเปลี่ยนทิศทางรูปแบบในการตั้งคำถามบ้างละกัน ดังที่ท่านทราบดีว่า สหรัฐฯ ยืนหยัดในจุดยืนทางการเมืองเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความก้ำกึ่งต่อไต้หวันเสมอมา อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดนเคยกล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะร่วมปกป้องไต้หวันอย่างเต็มกำลัง ท่านคิดว่า นโยบายที่แท้จริงของสหรัฐฯ เป็นเช่นไร ?
 
ปธน.ไช่ฯ : พวกเราเล็งเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการจัดอภิปรายต่อประเด็นนโยบายความสัมพันธ์ไต้หวันอย่างกระตือรือร้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ กลุ่มองค์กรต่างๆ มีทิศทางความคิดเห็นที่ต่างกันในแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไต้หวัน
 
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงจุดยืนที่สำคัญ 2 ประเด็น ประการแรก ประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณต่อพลังสนับสนุนอย่างหนักแน่นของมิตรสหายชาวสหรัฐฯ เสมอมา ประการที่ 2 ประชาชนชาวไต้หวันมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง และต่างตระหนักดีถึงความรับผิดชอบในการปกป้องประเทศบ้านเมืองของตน
 
การสนับสนุนที่ไต้หวันได้รับจากสหรัฐฯ นอกจากแถลงการณ์ด้านนโยบายแล้ว ความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ก็ได้ขยายขอบเขตเป็นวงกว้างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันให้สามารถรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ
 
นอกเหนือจากสหรัฐฯ แล้ว หากขยายมุมมองไปสู่ประชาคมโลก จะเห็นได้ว่าความสนใจที่ประชาคมโลกมีต่อไต้หวันนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมวลมนุษยชาติต่างตระหนักเห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องยกความดีความชอบให้แก่สหรัฐฯ ที่คอยเรียกร้องและมุ่งมั่นในภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
 
ถาม : ในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจระหว่างสหรัฐฯ และนานาประเทศ พวกเราเคยพูดคุยกับประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายท่าน ว่าควรที่จะมุ่งดำเนินการทางการค้ากับจีนต่อไปหรือไม่ ในกรณีนี้ พวกเราอยากทราบความคิดเห็นของท่านว่า  ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการสหรัฐฯ - จีน จะทำให้สถานการณ์ของไต้หวัน ดีขึ้นหรือแย่ลง ?
 
ปธน.ไช่ฯ : เนื่องจากในปัจจุบัน การทำธุรกิจกับจีน มีความเสี่ยงกว่าที่ผ่านมา บรรดาผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก อาจคาดหวังที่จะแสวงหารากฐานธุรกิจที่จะมาทดแทนในพื้นที่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ซึ่งพวกเรายินดีที่จะเห็นเหล่าผู้ประกอบการมุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับไต้หวันในเชิงลึก ซึ่งขณะนี้ ทั่วโลกต่างตระหนักเห็นถึงความสำคัญด้านความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและความมั่นคง ถือเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งไต้หวันมีข้อได้เปรียบที่สามารถแสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่ยิ่งใหญ่
 
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การผลิตแผ่นชิปด้วยเทคโนโลยีทันสมัยของไต้หวัน ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยไต้หวันจะพัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและเปี่ยมด้วยความมั่นคงระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทของไต้หวันในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน จะบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สร้างความตื่นตะลึงให้ประชาคมโลกในอนาคตต่อไป 
 
ถาม :  ขณะนี้ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้มีการเปิดอภิปรายในประเด็นปัญหาการบริจาคเงินสนับสนุนเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่สงครามรัสเซีย – ยูเครน และสงครามอิสราเอล - ฮามาส ท่านมีให้ความสนใจต่อประเด็นข้างต้นเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้ มีส่วนเกี่ยวพันในการส่งมอบการสนับสนุนต่อไต้หวันของสหรัฐฯ ท่านคิดว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นเช่นไร ? รู้สึกกังวลใจไหม ?
 
ปธน.ไช่ฯ : พวกเราเฝ้าจับตาต่อความเป็นไปของสถานการณ์ล่าสุดในยูเครนอย่างใกล้ชิด ในฐานะประธานาธิบดี การปกป้องวิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนชาวไต้หวัน ถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ของพวกเรา สำหรับไต้หวันแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกยังคงหนักแน่นเช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะแข็งแกร่งมากกว่าที่ผ่านมา
 
เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม การแสดงให้เห็นถึงพลังศักยภาพและความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศของตน นับได้ว่ามีความสำคัญมาก พวกเราต้องจำไว้ว่า การสกัดกั้นแนวคิดสุดโต่ง ลัทธิอำนาจนิยมและลัทธิการก่อการร้าย จำเป็นต้องพึ่งพาความมุ่งมั่นร่วมกันของประเทศหุ้นส่วนและบรรดามิตรประเทศ
 
ถาม : ท่านได้เข้าพบ Mr. McCarthy อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความขุ่นข้องใจให้รัฐบาลปักกิ่งเป็นอย่างมาก ประกอบกับการเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาของ Ms.Nancy Pelosi อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ก็ได้สร้างไม่พอใจให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง จนถึงขั้นแสดงพฤติกรรมการก่อกวนด้วยกำลังทหาร หากพิจารณาจากแรงปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลปักกิ่งแล้ว ท่านประเมินความสำคัญของการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ไว้เช่นไร ?
 
ปธน.ไช่ฯ : การพบปะครั้งที่ผ่านๆ มา มีนัยยะที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน และความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำไมประธานรัฐสภาของสหรัฐฯ จึงเดินทางเยือนไต้หวันหรือเข้าพบปะกับปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แน่นนอนว่าจีนต้องไม่พอใจจนแสดงปฏิกิริยาออกมาอย่างชัดเจน แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
 
ถาม : คำถามสุดท้าย ท่านดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันติดต่อมา 2 สมัย รวมระยะเวลา 8 ปี ในเดือนมกราคมปี 2024 ประชาชนชาวไต้หวันจะทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ท่านสังกัดอยู่ มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับโอกาสในการเป็นรัฐบาลต่อไปอีก ท่านกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้จีนเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารหรือไม่ ? หรือนี่จะกลายเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้าของไต้หวันหรือไม่ ?
 
ปธน.ไช่ฯ : ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่จีนเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน มิใช่ความลับอีกต่อไป พวกเขาก็ต้องการประกาศให้ประชาชนรับรู้ว่า ใครคือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พวกเขาต้องการให้ชนะการเลือกตั้ง
 
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าแนวทางการส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งของพวกเขา คงไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มีสาเหตุอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ไต้หวันเป็นสังคมประชาธิปไตย ประชาชนจะร่วมตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อคัดเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ จีนต้องการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน และจะอาศัยทุกวิถีทางในการพยายามทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่คาดหวังไว้
 
ในความเป็นจริงแล้ว นับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา การเลือกตั้งในไต้หวัน เราสามารถเล็งเห็นถึงการส่งผลกระทบจากจีนที่มีความคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน อันจะเห็นได้จากการเข้าข่มขู่ด้วยกำลังทหารและการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ประชาชนชาวไต้หวันไม่ควรรู้สึกแปลกใจต่อการสร้างการโจมตีเชิงจิตวิทยาบนสื่อรูปแบบดั้งเดิมหรือแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลที่เกิดจากจีน
 
แทนที่จะคาดหวังให้รัฐบาลปักกิ่งละทิ้งวิธีการเหล่านี้ พวกเราควรที่จะพุ่งจุดสนใจไปที่การเสริมสร้างความทรหดทางประชาธิปไตยของพวกเรา โดยหนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการเสริมสร้างความสามัคคีและความเชื่อมั่นระหว่างกลุ่มชนที่แตกต่าง จึงจะสามารถสกัดกั้นการโจมตีจากข่าวปลอม รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อการสร้างความแตกแยกในสังคม
 
เพียงแค่ประชาชนเชื่อมั่นในพลังประชาธิปไตย พวกเราก็สามารถสกัดกั้นการแทรกแซงการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว