New Southbound Policy Portal
กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 1 ธ.ค. 66
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายหลิวรุ่ยเสียง รองผู้อำนวยการทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้สังกัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนไต้หวันที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาการและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศไทย โดยได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ จัดกิจกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงเทคนิคในไทย รวมระยะเวลา 6 วัน โดยในระหว่างนี้ นอกจากคณะตัวแทนจะเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงเทคนิคระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และไทยแล้ว ยังได้ลงพื้นที่เข้าสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวม 2 แห่ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจข้างต้นแล้ว ยังได้เดินทางเยือนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย พร้อมนี้ คณะตัวแทนยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการผูกสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในภาคอุตสาหกรรม และร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 สถาบันอุดมศึกษา ทำให้การเดินทางเยือนในครั้งนี้ บังเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการแลกเปลี่ยนเป็นอย่างมาก
“การประชุมด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์ดินและน้ำใต้ดิน ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ ไทย ปี 2023” ในครั้งนี้ คณะตัวแทนจากทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐในหน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมการประชุมรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุมในสถานที่จริงและการประชุมรูปแบบออนไลน์ เพื่อร่วมอภิปรายกันในประเด็นเชิงเทคโนโลยีและเชิงกฎหมาย พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันกลไกการบริหารจัดการแหล่งมลพิษในดินและน้ำบาดาล รวมถึงการตรวจสอบความเข้มข้นของสารมลพิษ รวมถึงประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีการจัดการ เพื่อมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอันแนบแน่น ภายใต้บริบทการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและการมุ่งสู่อนาคตที่เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ตลอดจนเข้าสำรวจโอกาสการขยายตลาดต่างประเทศ โดยรอง ผอ.หลิวฯ กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมว่า หลายปีมานี้ การประชุมเชิงเทคนิคต้องเปลี่ยนมาจัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นผลอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาด การเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ ก็เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและการลงสำรวจพื้นที่ พร้อมเสนอข้อชี้แนะและความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการแหล่งมลพิษ อีกทั้งคณะตัวแทนยังสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารดำเนินงานของไทย รวมไปถึงสถานการณ์และความต้องการด้านการพัฒนาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีเชิงลึกในภายภาคหน้า
สำหรับการลงพื้นที่สำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ รวม 2 แห่ง คณะตัวแทนไต้หวันได้ติดตามเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียง ตลอดจนรับทราบเกณฑ์การประเมินคุณภาพน้ำด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจสอบน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลของไทย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพทางอากาศด้วยโดรน เพื่อตรวจสอบสภาพทางธรณีวิทยา ทั้งนี้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตรวจค้นหาความผิดปกติ ซึ่งคณะตัวแทนได้อาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการปฏิบัติจริง ในการยื่นเสนอข้อเสนอ เพื่อชี้แนะแนวทางและมาตรการการรับมือตามลำดับขั้นต่างๆ ในการประชุมว่าด้วยบทสรุป ซึ่งได้รับทั้งเสียงตอบรับที่ดีและคำขอบคุณจากเจ้าหน้าที่ชาวไทยด้วย
นอกจากนี้ คณะตัวแทนยังได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการผูกสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในแวดวงอุตสาหกรรม ระหว่าง “สมาคมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดินและน้ำใต้ดิน” และ “สมาคมการค้าไทย – ไต้หวัน (TTBA)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในไทย ควบคู่ไปกับการขยายกลไกการบริการสำหรับผู้ประกอบการชาวไต้หวันที่พำนักในไทย ซึ่งนอกเหนือจากการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมแล้ว ทางทบวงฯ ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนาม MOU ระหว่าง “คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจงหยวน” และ “คณะวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พร้อมทั้งติดต่อเชิญนิสิตจากจุฬาฯ เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับดินและน้ำใต้ดินที่จัดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทบวงฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการบ่มเพาะบุคลากรด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป