New Southbound Policy Portal

กระเบื้องแผ่นเล็กกับ ประวัติอันยิ่งใหญ่ ไปฟังสถาปนิกญี่ปุ่นเล่าเรื่อง กระเบื้องเคลือบในไต้หวันกัน

อาจารย์เคนจิ โฮริโกเมะมีโอกาสได้พบกับกระเบื้องมาจอลิก้าในไต้หวัน ก่อนจะ เริ่มต้นเส้นทางแห่งการค้นคว้าในภายหลัง

อาจารย์เคนจิ โฮริโกเมะมีโอกาสได้พบกับกระเบื้องมาจอลิก้าในไต้หวัน ก่อนจะ เริ่มต้นเส้นทางแห่งการค้นคว้าในภายหลัง
 

ในช่วงหลายปีมานี้ กระแสความนิยมเกี่ยวกับ “การเรียนรู้จากท้องถนน” ทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับการเดินเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป เพื่อบอกเล่าและชักนำให้หวนรำลึกถึงแก่นแท้ของอดีตผ่านร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่พบเห็นจากป้ายโฆษณาเก่า ป้ายร้านค้า องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และอื่น ๆ สิ่งที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต้องการบอกเล่ามิใช่เรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการพยายามขุดค้นเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเปิดเผยของบุคคลธรรมดา และนำเสนอเป็นภาพของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันผ่านจุดเล็ก ๆ เหล่านี้

 

กระเบื้องที่ใช้ประดับผนังด้านนอกของอาคารในเนื้อที่กว้าง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สะท้อนถึงลักษณะของตัวอาคาร ความนิยมและอิทธิพลงานศิลปะของแต่ละยุคสมัย ทำให้กระเบื้องเหล่านี้มีเรื่องราวที่สามารถบอกเล่าได้อย่างไม่รู้จบ อาจารย์เคนจิ โฮริโกเมะ (Kenji Horigome) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวันมานานหลายปี ได้ทำการค้นคว้าเพื่อหาจุดเชื่อมโยงระหว่างไต้หวันกับญี่ปุ่น ก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวนับร้อยปีของไต้หวันที่แอบแฝงอยู่ในกระเบื้องแต่ละแผ่น

 

ชื่อเฉพาะของ "กระเบื้อง"

อาจารย์เคนจิ โฮริโกเมะ ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตแบบกึ่งเกษียณ และเป็นอาจารย์พิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัยแห่งสถาบันประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ยังคงเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่งคนทำงานด้านการค้นคว้าวิชาการ อาจารย์เคนจิบอกกับเราในทันทีที่โน้มตัวลงนั่งว่า เขาต้องการจะแก้การเรียกชื่อให้ถูกต้อง เพราะกระเบื้องลายดอกที่เรียกกันในไต้หวันนั้น แท้ที่จริงแล้วชื่อของมัน คือ กระเบื้องมาจอลิก้า (Majolica Tile) ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตขึ้นในญี่ปุ่น

“ผมจบจากคณะสถาปัตยกรรม โดยช่วงที่เรียนอยู่คือช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1960-1970 ซึ่งเป็นยุคที่นิยมอาคารสมัยใหม่และอาคารแบบโมเดิร์น ในตอนนั้น อาจารย์ของผมมักจะพูดอยู่เสมอว่า พื้นที่ใช้งานมีความสำคัญมากกว่า การตกแต่งภายนอกอาคารไม่ได้สลักสำคัญอะไร จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมไม่ค่อยชอบอาคารที่มีการตกแต่งภายนอกมากจนเกินไปมาโดยตลอด แต่หลังจากมาถึงไต้หวันแล้วถึงได้รู้ว่า การตกแต่งภายนอกของตัวอาคารก็มีความสำคัญเช่นกัน” เขาพูดขึ้นด้วยความเขินอาย

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน อาจารย์เคนจิฯ ได้รับเชิญให้มาเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ก่อนที่จะบังเอิญได้ไปพบแผ่นกระเบื้องมาจอลิก้า 2 แผ่นในร้านขายวัตถุโบราณ ซึ่งเมื่อพลิกดูด้านหลังมีเขียนคำว่า “Made in Japan” ทำให้เขาเกิดความสนใจ จนเริ่มเก็บสะสมแผ่นกระเบื้องมาจอลิก้า ข้อความด้านหลังแผ่นกระเบื้องเกี่ยวกับประเทศที่ผลิต ปีที่ผลิต รวมถึงเลขรหัสรุ่นและแบบ ได้บันทึกชีวประวัติของแผ่นกระเบื้องเอาไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกแอบแฝงไว้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ โดยไม่ถูกพบเห็น หากแต่ถือเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับการอนุรักษ์ ซ่อมแซม และนำกลับมาใช้งานใหม่
 

อาคารสภาตุลาการ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1934 กำแพงด้านนอกถูกประดับด้วยแผ่นกระเบื้อง Scratch

อาคารสภาตุลาการ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1934 กำแพงด้านนอกถูกประดับด้วยแผ่นกระเบื้อง Scratch
 

ทางเลือกใหม่ที่ถูกใช้ในการตกแต่ง

กระเบื้องมาจอลิก้ามักจะถูกนำมาใช้ตกแต่งในบ้านเก่าแก่ที่ก่อด้วยอิฐแดงไต้หวัน หากแต่กลับไม่ค่อยพบเห็นมากนักในญี่ปุ่น อาจารย์เคนจิฯ วิเคราะห์ว่า บ้านของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างไม้และกำแพงดิน ซึ่งไม่ค่อยตกแต่งด้วยสีสันต่าง ๆ มากนัก ทำให้กระเบื้องมาจอลิก้าที่มีสีสันสดใสแทบไม่มีประโยชน์ ในทางกลับกัน สำหรับบ้านของคนไต้หวันแล้ว แผ่นกระเบื้องเหล่านี้สามารถติดเข้าไปบนผนังอิฐได้โดยสะดวก อีกทั้งคนไต้หวันก็นิยมการตกแต่งกำแพงด้านนอกของบ้านให้มีสีสัน เพื่อต้องการอวดให้คนอื่นเห็น

“กระเบื้องมาจอลิก้าจึงเปรียบเสมือนเป็นทางเลือกในการตกแต่ง” อาจารย์เคนจิฯ อธิบายต่อว่า ในอดีต บ้านของคนไต้หวันที่มีฐานะดี จะนิยมใช้กระเบื้องโคชินหรือกระเบื้องโมเสกมาทำการตกแต่ง แต่หลังจากมีกระเบื้องมาจอลิก้าซึ่งเป็นกระเบื้องที่สามารถปูและติดตั้งได้ง่ายกว่า และให้ผลแบบเดียวกับกระเบื้องโคชินหรือกระเบื้องโมเสก ทำให้กระเบื้องมาจอลิก้ากลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยมมากในการสร้างบ้านของคนไต้หวัน

 

จากอิฐแดงมาสู่กระเบื้องเซรามิก

“กระเบื้องเซรามิกที่เห็นกันในปัจจุบัน เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการทำให้อิฐแดงมีความบางลดลง” อาจารย์เคนจิฯ เห็นว่า หากจะค้นคว้าเรื่องราวของกระเบื้องเซรามิกที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ต้องย้อนกลับไปดูเรื่องราวของอาคารอิฐแดงในสมัยก่อน อาคารอิฐแดงแบบญี่ปุ่นเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงประมาณปีแรกของยุคเมจิ (ค.ศ. 1868) ซึ่งกระแสนิยมนี้ก็ติดตามมาถึงไต้หวันโดยการนำเข้ามาของเหล่าสถาปนิกจากญี่ปุ่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อาคารของหน่วยงานรัฐบาลในไต้หวันจำนวนมาก ต่างก็เป็นอาคารอิฐแดงทั้งสิ้น แต่อาจารย์เคนจิฯ บอกให้เราพิจารณาอย่างละเอียดว่า อาคารสำนักงานบริษัทสุราและยาสูบไต้หวันในปัจจุบัน (เดิมคือ กองสินค้าผูกขาดประจำที่ทำการข้าหลวงใหญ่ประจำไต้หวัน (ค.ศ. 1913) คริสตจักรเพรสไบทีเรียน จี้หนาน (ค.ศ. 1916) ต่างก็ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของอาคารอิฐแดง ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในอดีต เพื่อตกแต่งภายนอกของตัวอาคารให้ดูสวยงาม คนงานก่อสร้างมักจะเลือกอิฐแดงที่มีคุณภาพดีกว่า (ผิวเรียบลื่นและเงางาม) มาใช้ในการก่อสร้างผนังของอาคาร โดยในสมัยนั้น การก่อสร้างจะใช้วิธีการก่ออิฐถือปูน แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า ในการก่อสร้างกำแพงด้านนอกของอาคารสถานีรถไฟไทจง (ค.ศ. 1917) และทำเนียบประธานาธิบดี (เดิมคือที่ทำการข้าหลวงใหญ่ประจำไต้หวัน ค.ศ. 1919) ต่างก็ใช้วิธีการก่ออิฐถือปูนตามแบบเดิม ก่อนจะมีการปูด้วยแผ่นกระเบื้องสีแดงไว้ด้านนอกสุด แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคนิคในการก่อสร้างว่า เมื่อตัวอิฐแดงมีความบางมากขึ้น วิธีการก่อสร้างก็ถูกเปลี่ยนมาใช้วิธีติดเอาไว้ที่ผนังด้านนอกแทน
 

หอจงซานถังไทเป สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1936 เดิมคือ หอประชุมไทเป ผนังด้านนอกถูกประดับด้วยแผ่นกระเบื้อง Tapestry สีเทาเขียว ปัจจุบันถือเป็นโบราณสถานระดับประเทศ

หอจงซานถังไทเป สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1936 เดิมคือ หอประชุมไทเป ผนังด้านนอกถูกประดับด้วยแผ่นกระเบื้อง Tapestry สีเทาเขียว ปัจจุบันถือเป็นโบราณสถานระดับประเทศ
 

สียอดนิยมของเมือง

อาคารอิฐแดงที่สร้างขึ้นในสมัยเมจิและได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย พังทลายลงเป็นจำนวนมากจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในแถบคันโตในปี ค.ศ. 1923 ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างอาคาร โดยหันมาใช้โครงสร้างเหล็กหรือคอนกรีตเสริมเหล็ก (R.C.) “แต่ข้อเสียของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คือ ผนังด้านนอกจะดูดซึมน้ำ ทำให้ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เหล่าสถาปนิกจึงนึกถึงกระเบื้องเคลือบขึ้นมาทันที” อาจารย์เคนจิฯ กล่าว หลังผ่านเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโต ผู้คนต่างเห็นว่าอาคารสีแดงถือเป็นสีของอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว ทำให้เกิดการผลิตกระเบื้องเคลือบที่มีสีสันต่าง ๆ มากมาย ทั้งสีกาแฟ สีเหลือง สีขาว หรือแม้แต่สีเขียวและเขียวอ่อน ในขณะเดียวกัน เทคนิคในการผลิตก็มีการพัฒนามากขึ้นจนเกิดเป็นกระเบื้อง Scratch กระเบื้องผิวหยาบ กระเบื้องเส้นหยาบ (ในไต้หวันเรียกว่ากระเบื้อง 13 ร่อง) กระเบื้อง Tapestry และ Terra Cotta เป็นต้น

กระเบื้องที่ปรากฏโฉมบนผนังด้านนอกของอาคารในช่วงปลายสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน และบนตัวอาคารร่วมสมัย ซึ่งมีสีเขียวเหลือง เขียวเข้ม เขียวเทา หรือเทาเขียว ได้รับการขนานนามในไต้หวันว่าเป็น “กระเบื้องสีกลาโหม” หากแต่จากการค้นคว้าของอาจารย์เคนจิฯ กลับพบว่า การใช้สีกระเบื้องดังกล่าวในการก่อสร้างเพื่อพรางตัวอาคาร ยังไม่เห็นผลที่เด่นชัดนัก “ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นสีกลาโหม หากแต่น่าจะเป็นสีที่นิยมในขณะนั้นมากกว่า เพราะในขณะที่ไต้หวันได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่น สถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นเองก็ได้รับอิทธิพลมาจากอาคารร่วมสมัยของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน”

 

การเดินทางอันมหัศจรรย์ของวัสดุก่อสร้าง

ในบรรดาแผ่นกระเบื้องที่อาจารย์เคนจิฯ เก็บสะสม เขาได้หยิบแผ่นกระเบื้องที่มีความพิเศษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง นี่คือกระเบื้องปูพื้นจากระเบียงของโรงพยาบาลจิ้วเซิง ที่อยู่บนถนนเหรินอ้าย ในเขตซานเสียของนครนิวไทเป ในระหว่างที่อาจารย์เคนจิฯ ได้ไปสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการ คลินิคจิ้วเซิงรุ่นที่ 2 คือ นพ. เฉินจงโจว พบว่า โรงพยาบาลจิ้วเซิงมีแผนจะต่อเติมขยายพื้นที่ แต่ในขณะนั้น (ปีสุดท้ายของยุคไทโช) ทั่วไต้หวันประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ดังนั้น นพ.เฉินเหวิน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลรุ่นแรก จึงตัดสินใจประมูลสั่งซื้อตัวอาคารที่กำลังจะถูกรื้อถอน เพื่อนำเอาวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งก็คืออาคารหลังหนึ่งที่อยู่ในบริเวณบ้านพักหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ตั้งอยู่ระหว่างทำเนียบประธานาธิบดีและ Taipei Guest House และถูกรื้อถอนในปี ค.ศ. 1923 นั่นเอง “ในยุคสมัยที่มีการหวงแหนทรัพยากรเป็นอย่างมาก การนำเอาวัสดุก่อสร้างจากตัวอาคารที่ถูกรื้อถอนกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก”
 

กระเบื้องที่ถูกประดับไว้ด้านนอกของตัวอาคาร ทำให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ของอาคารแต่ละแห่ง

กระเบื้องที่ถูกประดับไว้ด้านนอกของตัวอาคาร ทำให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ของอาคารแต่ละแห่ง
 

การเดินทางรอบโลกของกระเบื้อง

กระเบื้องมาจอลิก้า มีต้นกำเนิดมาจากเครื่องเซรามิกและกระเบื้องเคลือบของประเทศอิสลาม ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ต่อไปยังหลายประเทศ ทั้งสเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ได้ถูกเผยแพร่ไปยังอังกฤษ ประจวบกับเป็นช่วงที่อังกฤษเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น จึงส่งผลให้เกิดเทคนิคใหม่ในการผลิตกระเบื้องมาจอลิก้า ก่อนจะถูกพัฒนาให้กลายมาเป็น “กระเบื้องวิกตอเรีย” ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

กระเบื้องวิกตอเรียถูกเผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในช่วงปลายเอโดะถึงต้นยุคเมจิ ซึ่งนายช่างชาวญี่ปุ่นได้เริ่มการค้นคว้าเกี่ยวกับกระเบื้องวิกตอเรียขึ้น กระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการผลิตกระเบื้องโดยใช้เทคนิคแบบแห้ง จึงทำให้ทั้งคุณภาพและมาตรฐานได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ก่อนจะเริ่มผลิตในปี ค.ศ. 1920 และมีการส่งออกกระเบื้องมาจอลิก้าไปยังต่างประเทศ

ตลาดสำคัญคือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน เอเชียอาคเนย์ อินเดีย รวมถึงอเมริกาเหนือและใต้ อาจารย์เคนจิฯ คาดว่า “กว่าร้อยละ 90 ของกระเบื้องมาจอลิก้าที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านในไต้หวัน ถูกผลิตขึ้นในญี่ปุ่น จึงถือว่ามีความเกี่ยวพันกับการที่ไต้หวันเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น” โดยบริษัทญี่ปุ่นได้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและได้ผลิตกระเบื้องมาจอลิก้าให้สอดคล้องกับสไตล์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ในไต้หวันจะมีลวดลายเกี่ยวกับความเป็นสิริมงคล พืชผักผลไม้ และสัตว์ต่าง ๆ ส่วนในอินเดีย ก็จะมีลวดลายเป็นภาษาสันสกฤต หรือเป็นรูปเทพเจ้า เป็นต้น

เรื่องราวของกระเบื้องแผ่นเล็ก ๆ แต่กลับทำให้เราได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของตลาดแห่งโลกาภิวัตน์ เทคนิคการผลิตกระเบื้องแบบอังกฤษ และความได้เปรียบทางอุตสาหกรรม ทำให้อังกฤษกลายเป็นผู้นำในตลาดกระเบื้องเคลือบ ญี่ปุ่นซึ่งมาในภายหลัง ได้เริ่มจากการเลียนแบบ ก่อนจะพยายามศึกษาค้นคว้า และพัฒนาจนได้กระเบื้องที่มีคุณภาพสูงไม่แพ้กัน โดยอาศัยจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งและการครอบครองอาณานิคม ในการทำตลาดและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งไต้หวัน ถือเป็นตลาดแรกที่ญี่ปุ่นส่งออกกระเบื้องมาจอลิก้า จนส่งผลให้กระเบื้องมาจอลิก้าที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ กลายเป็นภาพแห่งทิวทัศน์อันงดงามของหลังคาและผนังอาคารบ้านเรือนในไต้หวัน

กระเบื้องแผ่นเล็ก ๆ ถูกนำมาปะติดปะต่อจนกลายเป็นทิวทัศน์ของเมืองที่แตกต่างกันออกไป และยังเชื่อมโยงประเทศเกาะอย่างญี่ปุ่น เข้ากับไต้หวัน เอเชียอาคเนย์ จีน รวมถึงอังกฤษและประเทศในยุโรป นี่คือประวัติศาสตร์ของ “สิ่งของ” ที่หากไม่ได้ศึกษาค้นคว้าก็จะไม่รู้เลยว่า สิ่งของที่ดูแล้วธรรมดามาก ๆ นี้ ได้เชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกันและทำให้เรารู้สึกหลงใหลไปกับมันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

เพิ่มเติม

กระเบื้องแผ่นเล็กกับ ประวัติอันยิ่งใหญ่ ไปฟังสถาปนิกญี่ปุ่นเล่าเรื่อง กระเบื้องเคลือบในไต้หวันกัน