New Southbound Policy Portal
ตัวอักษรจีนบนป้ายร้านค้า สะท้อนถึงบุคลิกภาพและความมีพลัง เป็นสิ่งที่น่าชมบนท้องถนน
ภาพวาดที่มีชื่อว่า “Festival on South Street” ซึ่งเป็นผลงานของคุณกัวเสวี่ยหู (郭雪湖) ที่วาดขึ้นในปี ค.ศ. 1930 “สะท้อนความเป็นจริง” แสดงถึงความคึกคักและความมีชีวิตชีวาของภูมิทัศน์บนถนนในเขตต้าเต้าเฉิง (大稻埕) ย่านการค้าเก่าแก่ในกรุงไทเป ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกราวกับว่ากำลังยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่เบียดเสียดยัดเยียดกัน
ปี ค.ศ. 2017 “Brutus” นิตยสารของญี่ปุ่น ได้จัดพิมพ์ฉบับพิเศษที่มีการแนะนำไต้หวันโดยเฉพาะ หน้าปกนิตยสารเป็นภูมิทัศน์ถนนกั๋วหัวในนครไถหนานที่เต็มไปด้วยป้ายร้านค้ามากมายหลากหลายรูปแบบ เผยให้เห็นถึงการปรับตัวตามวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก มองแวบเดียวก็รู้ได้ในทันทีว่า “อ๋อ! นั่นคือไต้หวัน”
แม้ภูมิทัศน์ถนนของไต้หวันไม่ได้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สีสันก็ไม่ได้ปรับแต่งให้เหมือนกัน แต่กลับเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง ป้ายร้านค้าตัวอักษรจีนที่มีอยู่ดาษดื่นราวกับจะแข่งกันตะโกนด้วยเสียงอันกึกก้องและเต็มไปด้วยพลังว่า “เลือกฉันสิ เลือกฉันสิ” นับเป็นความทรงจำอันตราตรึงที่มีต่อไต้หวันของมิตรสหายต่างชาติจำนวนมาก
ป้ายแผงลอยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดสายตาคน หลอมรวมสไตล์ที่ต่างกันเข้ากับความคิดสร้างสรรค์
ดร. หลี่หมิงชง (李明璁) นักสังคมวิทยาและ CEO ของ Searchlight Culture Lab ที่ชอบเดินไปสำรวจไป ได้ใช้คำว่า “Palimpsest” มาอธิบายถึงความคิดเห็นที่มีต่อภูมิทัศน์ถนนในไต้หวัน คำว่า Palimpsest ก็คือหนังแกะหรือกระดาษใช้ซ้ำ ซึ่งผู้คนในสมัยโบราณใช้เขียนบันทึกข้อความ หากต้องการเขียนใหม่ก็ต้องขูดเพื่อลบข้อความเดิมออกไปก่อน แต่ไม่สามารถขูดออกจนหมด ยังคงมีร่องรอยเดิมหลงเหลืออยู่ ซึ่งเปรียบเสมือนการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ท้องถนนในไต้หวัน ประวัติศาสตร์ไต้หวันไม่ถือว่ายาวนานมากนัก จึงทำให้สามารถมองเห็นความพยายามในการลบล้างสิ่งของในยุคเก่า ๆ ทิ้งไป แต่ก็ไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง และแล้วเมื่อสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ ก็ไม่สามารถทดแทนของเก่าได้ทั้งหมด “สิ่งที่สามารถพบเห็นบนท้องถนนที่สามารถยืนยันปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ได้ ก็น่าจะเป็นป้ายร้านค้านี่แหละ”
ภูมิทัศน์ป้ายร้านค้าตามท้องถนนในไต้หวันสะท้อนให้เห็นถึงการหลอมรวมของพหุวัฒนธรรม ดร. หลี่หมิงชงอธิบายว่า “อันดับแรก สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ วัฒนธรรมตัวอักษรจีน ตามมาด้วยวัฒนธรรมที่เกิดจากการเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น และสุดท้ายเกี่ยวข้องกับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการรับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกา ใกล้เข้ามาอีกนิดก็จะพบว่าเป็นวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกนำเข้ามาหลอมรวมกัน” อาจกล่าวได้ว่า “ป้ายร้านค้าคือการย่อส่วนของวัฒนธรรม”
ป้ายไม้แกะสลัก : พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ข้างถนน
วัฒนธรรมป้ายร้านค้าของไต้หวันมีต้นกำเนิดมาจากยุคอาณานิคมญี่ปุ่น การก้าวสู่สังคมอุตสาหกรรมการค้าก่อให้เกิดการพัฒนาของป้ายร้านค้า วัสดุที่นำมาใช้ทำป้ายร้านค้าในยุคแรก ๆ นอกจากแผ่นโลหะแล้ว การใช้แผ่นไม้มาแกะสลักเป็นป้ายร้านค้า ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ร้านแกะสลักไม้ตระกูลเฉิน ที่นครไทจง เป็นร้านแกะสลักไม้เก่าแก่แห่งหนึ่งที่เคยแกะสลักป้ายร้านค้ามาจนนับไม่ถ้วน คุณเฉินเหวินไฉ (陳文才) เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล่าถึงความเฟื่องฟูในอดีตว่า หลังปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไต้หวันก้าวกระโดด มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ และมีโรงงานอุตสาหกรรมถูกสร้างขึ้นใหม่มากมาย การไปมาหาสู่กันและส่งมอบของขวัญระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเป็นไปอย่างคึกคัก ปริมาณความต้องการป้ายร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สมัยก่อนยังมีคนที่รับเขียนตัวอักษรจีนโดยเฉพาะด้วย เรียกกันว่า “คนขายหมึก” คนเหล่านี้สามารถเขียนตัวอักษรจีนได้ทั้ง 4 ชนิด คือ ลี่ จ้วน สิง และเฉ่า แต่ป้ายร้านค้าส่วนใหญ่นิยมใช้ตัวอักษรบรรจงเพราะดูแล้วจะให้ความรู้สึกที่สง่างามและเป็นทางการมากกว่า” ป้ายร้านค้าถือเป็นหน้าเป็นตาของร้าน แม้แต่การลำเลียงขนส่งก็พิถีพิถันเป็นพิเศษ “หลังจากแกะสลักเรียบร้อยแล้วก็ต้องประดับด้วยสายสะพายสีแดงและเสียบดอกไม้สีทอง 2 ดอก รวมถึงร่วมมือกับวงเครื่องดนตรี 8 ชนิด ระหว่างลำเลียงป้ายไปส่งก็จะมีการตีฆ้อง ตีกลองและเป่าแตรบรรเลงดนตรีกันไปตลอดเส้นทาง”
“ลูกค้าที่มาสั่งทำป้ายไม้แกะสลักมีทุกประเภทกิจการ แต่ส่วนใหญ่เป็นร้านยาจีน โรงพยาบาล และร้านขายธูป” คุณเฉินซีเยี่ยน (陳希彥) ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านแกะสลักไม้ตระกูลเฉิน เปิดอัลบั้มรูปถ่ายเพื่อโชว์ป้ายร้านค้าที่เป็นผลงานการแกะสลักของทางร้าน พลางอธิบายให้ฟังว่า “กิจการเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ในการทำป้ายร้าน ตัวอักษรบนแผ่นป้าย และฝีมือการแกะสลัก ล้วนสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและคุณธรรมของผู้ประกอบการ”
ป้ายไม้แกะสลัก อาจกล่าวได้ว่า คืองานศิลปะที่ผนวกรวมศิลปะการเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันจีนและการแกะสลักไม้เข้าด้วยกัน อาคารที่พบเห็นในย่านการค้าของไต้หวันส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ฮกเกี้ยน มีทางเดินหน้าร้านให้คนเดินผ่านไปมาได้ ในอดีตป้ายไม้แกะสลักจะแขวนไว้ที่เหนือกรอบประตูด้านบนของหน้าร้าน คุณเฉินเหวินไฉพรรณนาว่า เมื่อเดินผ่านร้านค้าแต่ละร้าน จะรู้สึกราวกับกำลังเดินชมพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์กลางแจ้ง ค่อย ๆ ชมไปทีละร้าน “ตัวอักษรบนป้ายร้านของบางร้าน ดูยังไงก็ไม่เบื่อ ดูแล้วก็ยังอยากดูอีก”
ภูมิทัศน์ป้ายร้านค้าตามท้องถนนในไต้หวันที่เริ่มค้นพบบริบทของตนเอง ในภาพเป็นหน้าร้าน 1035 collab ซึ่งเป็นร้านกาแฟในนครไทจงที่นำอาคารเก่ามารีโนเวทใหม่
คุณเคนทาโร ฟูจิโมโต ( Kentaro Fujimoto) นักออกแบบตัวอักษรชาวญี่ปุ่น ออกหนังสือชื่อ “เดินชมตัวอักษร ย่ำไปในไต้หวัน : สำรวจตัวอักษรตามท้องถนน” จากการที่ไต้หวันกับญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้ตัวอักษรจีนเหมือนกัน แต่ในสายตาของคุณฟูจิโมโต เขามองเห็นความน่าสนใจหลายอย่างที่คนไต้หวันมองข้ามไปเพราะเห็นบ่อยจนเคยชิน อย่างเช่น ตัวอักษรบนป้ายร้านเสื้อผ้าแฟชั่นที่ดึงดูดสายตา อาจเป็นความหรูหราสไตล์กอทิกหรือได้รับอิทธิพลจากสไตล์โชวะของญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทันสมัย เขายังได้หยิบยกตัวอย่างของโคมไฟที่พบเห็นได้ทั่วไปในวัดหรือศาลเจ้า ลักษณะของตัวอักษรบนโคมไฟจะถูกทำให้แบนลงจนผิดรูปผิดร่าง เพียงแค่ได้เห็นก็ทำให้เขารู้สึกตะลึง เขาเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ตัวอักษรบนป้ายร้านค้าในไต้หวันจำนวนมากเขียนขึ้นด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ มีการลดทอนเส้นขีดของตัวอักษรได้อย่างอิสระเกินกว่าที่คาดคิด ซึ่งต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง
คุณเคอจื้อเจี๋ย (柯志杰) นักวิจัยตัวอักษรชาวไต้หวันได้เขียนคอลัมน์แนะนำสภาพการณ์ของตัวอักษรในไต้หวัน เขากล่าวว่า ประวัติศาสตร์ภาษาบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ หากจะอธิบายกันอย่างจริงจังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ความหลากหลายของภาษาถูกหลอมรวมลงบนป้ายร้านค้าของเรา อย่างเช่นมีการใช้ の ซึ่งเป็นตัวอักษรญี่ปุ่น ê ที่เป็นอักษรโรมัน และㄟ ซึ่งเป็นอักษรถอดเสียงภาษาจีนที่เรียกว่าจู้อิน และคำว่า 便當 (อ่านว่า เบนโตะ) ที่เป็นตัวอักษรจีนที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ในไต้หวันมีการนำมาผสมปนเปกันอย่างซับซ้อนแต่กลับทำให้ดูมีชีวิตชีวา เขาชื่นชมการออกแบบตัวอักษรจีนในไต้หวันว่า ให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะตัวและพลังจากการลงน้ำหนักเส้นขีดของตัวอักษรจีน นับเป็นการออกแบบที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก
ด้าน ดร. หลี่หมิงชง ได้กล่าวถึงความสลับซับซ้อนของป้ายร้านค้าในย่านที่พักอาศัยที่ปนเปอยู่ในย่านการค้า บวกกับความเฟื่องฟูขึ้นของแผงลอย ทำให้ย่านการค้ามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดสายตาผู้คน ป้ายร้านค้าคือจุดสำคัญ ที่ผู้ประกอบการร้านค้าต้องทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ “หลอมรวมและคละเคล้าสไตล์ที่ต่างกัน ใช้ตัวอักษรที่มีเสียงพ้องกัน ใช้หลายภาษามาประสมกัน ใช้คำล้อเลียน หรือแม้กระทั่งใช้ culture jamming หรือการป่วนทางวัฒนธรรม เพื่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดจากการผสมผสานแบบ 1+1 ไม่ใช่เท่ากับ 2 แต่มากกว่า 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก” และนี่คือสิ่งที่เราอยากแบ่งปันให้แก่มิตรสหายชาวต่างชาติได้รับรู้ ป้ายร้านค้าตามท้องถนนมีการใช้ตัวอักษรที่มีเสียงพ้องกันจำนวนมากซึ่งแฝงไว้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ขอเชิญชวนมิตรสหายที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน ต้องหามัคคุเทศก์ที่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้อธิบายความหมายของตัวอักษรเหล่านี้ได้
เคยเฟื่องฟูอย่างสุดเหวี่ยงในทศวรรษ 1980
ทศวรรษ 1990 สังคมเริ่มปรากฏเสียงเรียกร้องให้ทบทวนภูมิทัศน์ถนนของไต้หวัน ป้ายร้านค้าตกเป็นเป้าโจมตีของทุกฝ่าย มีการเสนอแนวคิดให้เพิ่มการควบคุม ตลอดจนเรียกร้องให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการควบคุมขนาดของป้ายร้านค้าหรือกำหนดให้ใช้รูปแบบเดียวกัน แต่การทดลองเพื่อปรับปรุงแก้ไขเหล่านี้ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างจริงจังในไต้หวัน
ดร. หลี่หมิงชง เตือนว่า “เราไม่ต้องรีบร้อนลงความเห็นว่า มันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ต้องทำลายให้สิ้นซาก แต่ควรต้องไปทำความเข้าใจว่า ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น” อย่ามองเรื่องราวเพียงแค่เปลือกนอก แต่ควรไปสำรวจ ศึกษา และวิจัยถึงสาเหตุ "หลังถูกกดขี่มาเป็นเวลายาวนาน สังคมไต้หวันได้รับการปลดปล่อยอย่างแท้จริงในทศวรรษ 1980 นับเป็นยุคแห่งการแสวงหาเสรีภาพและการปลดปล่อยอย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีวัสดุเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อะคริลิกพลาสติก กลายเป็นวัสดุสำคัญที่นำมาใช้ทำป้ายร้านค้า สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ในช่วงเวลานั้น สิ่งที่เจ้าของร้านค้าต้องการคือ ให้คนมองเห็นได้โดยง่าย ดังนั้นป้ายร้านยิ่งสะดุดตายิ่งดี และไม่ใส่ใจว่ากลมกลืนกับสภาพแวดล้อมหรือไม่
คุณเฉินเหวินไฉที่เก่งกาจด้านงานหัตถศิลป์ ในยุคปัจจุบันก็ยังมีเวทีใหม่ให้สำแดงฝีมือได้อย่างเต็มที่
มีบางคนเห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างถนนของไต้หวันที่เต็มไปด้วยป้ายร้านค้าครั้งใหญ่ หรืออาจต้องให้หน่วยงานรัฐบาลเข้ามาช่วยกำกับ แต่ ดร. หลี่หมิงชงมองว่า หากไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเอง ล้วนเป็นอันตราย “ต้องเริ่มจากสุนทรียศึกษา ความรู้สึกในด้านสุนทรียศาสตร์ และความเห็นพ้องร่วมกันด้านความสวยงามของประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานทีเดียว” นอกจากนี้ “ไต้หวันไม่จำเป็นในการใช้ทางลัด” เมื่อในสังคม มีคนหารือกันถึงเรื่องนี้มากขึ้น ก็จะมีการจัดนำชมเพื่อให้รู้จักเรื่องราวของภูมิทัศน์ท้องถนนมากขึ้น เป็นการพาทุกคนไปดูให้ “เห็นกับตา” เพื่อจะได้มีการ “หารือกัน” นานวันเข้าก็ทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน โละทิ้งของเก่านำของใหม่มาทดแทนและจะสามารถค้นพบบริบทของตนเองได้ในที่สุด
ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การออกแบบป้ายร้านค้าบางส่วนเริ่มส่งผลให้ทัศนียภาพตามท้องถนนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเงียบ ๆ ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแย่งชิงความเด่นอีกต่อไป แต่เป็นการไตร่ตรองถึงภาพลักษณ์ที่ตนเองอยากจะเป็น
ร้านแกะสลักไม้ตระกูลเฉินที่มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว กำลังเผชิญกับภาวะซบเซา แม้คุณเฉินเหวินไฉจะมีฝีมือด้านงานหัตถศิลป์แต่ไม่มีเวทีให้แสดงความสามารถ เขาเคยคิดจะเกษียณตัวเองและปิดกิจการ แต่หลังได้รับการแนะนำจากทีมออกแบบ Beautiful Touch ทำให้ร้านแกะสลักไม้ตระกูลเฉินเริ่มร่วมมือแบบข้ามศาสตร์กับดีไซเนอร์ในวงการธุรกิจ ผลิตป้ายร้านค้าให้แก่สตูดิโอของดีไซเนอร์หรือแบรนด์สินค้านวัตกรรมจำนวนมาก อาทิ Joe Fang Studio, Light House, Bleu & Book, และ Fufu Grocery Store เป็นต้น จากการออกแบบและฝีมือหัตถศิลป์ที่อ่อนช้อยส่งผลให้ป้ายไม้แกะสลักเหล่านี้ กลายเป็นทัศนียภาพตามท้องถนนที่วิจิตรงดงาม
ป้ายร้านค้าทุกป้ายล้วนมีเรื่องราวของตนเอง อย่างป้ายร้านขนม “สี่เยว่” ที่ลู่กั่ง ตัวอักษรบนป้ายเขียนโดยบิดาเจ้าของร้าน ราวกับเป็นการสลักเจตนารมณ์ของตระกูลที่ต้องการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลงบนป้ายร้าน
ร้านข้าวมัน “อู๋หมิง” ที่นครไถหนาน ขอให้ร้านแกะสลักไม้ตระกูลเฉินช่วยแกะสลักป้ายร้านเลียนแบบป้ายเก่าที่ทำจากโลหะ โดยอนุรักษ์รูปแบบตัวอักษร เลย์เอาต์ และเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้เพื่อให้ความเก่าแก่ของร้านยังคงสืบทอดต่อไป
1035 collab ร้านกาแฟในนครไทจงที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เป็นการรีโนเวทอาคารเก่าในทศวรรษ 1910 ชื่อร้านมาจากหมายเลขโทรศัพท์ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน รูปสัญญาณมือแทนตัวเลข 1035 ที่แกะสลักโดยคุณเฉินเหวินไฉ ถูกนำมาติดที่หน้าร้านดึงดูดสายตาผู้คนเป็นอย่างมาก
ป้ายร้าน Hello Tattoo Studio ที่คุณเฉินเหวินไฉสะบัดพู่กันด้วยตนเองอีกครั้ง ตัวอักษรสามมิติบนป้ายร้านทำให้ทัศนียภาพป้ายร้านค้าในอดีตปรากฏขึ้นอีกครั้ง
ร้านออส่วนหอยนางรมข้างวงเวียนที่ตลาดกลางคืนหนิงเซี่ย ซึ่งเป็นสตรีทฟู้ดไต้หวันที่ได้รับมิชลิน บิบ กูร์มองด์ เจ้าของร้านมอบหมายให้ดีไซเนอร์ออกแบบป้ายร้านแล้วส่งต่อให้ร้านแกะสลักไม้ตระกูลเฉินเป็นผู้แกะสลัก
ใช้เทคนิคการแกะภาพให้นูนขึ้น ตัวอักษรที่เขียนแบบเฟยไป๋ (飛白) ซึ่งเป็นวิธีเขียนตัวอักษรแบบโบราณ สะท้อนถึงอายุขัยอันยาวนาน หอยนางรมบนป้ายร้านดูสดใหม่น่ารับประทาน เป็นผลสำเร็จอันงดงามที่เกิดจากการผนวกรวมกันของอาหารว่างกับงานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิมของไต้หวัน
จากการวางผังเมืองไปจนถึงงานช่างหัตถศิลป์ จะเห็นได้ว่า เรื่องราวของป้ายร้านค้าเกี่ยวพันและครอบคลุมทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ยากที่จะพรรณนาออกมาด้วยคำพูด “หากไม่มีพหุวัฒนธรรม ก็จะไม่มีป้ายร้านค้าที่น่าสนใจ” ขอใช้ประโยคนี้ของดร. หลี่หมิงชง มาเป็นบทสรุปชั่วคราวไปก่อนก็แล้วกัน
เพิ่มเติม