New Southbound Policy Portal
สภาบริหาร วันที่ 25 ธ.ค. 66
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน เพื่อตรวจการณ์ความคืบหน้าและมาตรการสกัดกั้นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยนรม.เฉินฯ กล่าวว่า ภารกิจการป้องกันโรคระบาดจากสัตว์ในไต้หวัน ได้รับการบริหารและควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การประสานความร่วมมือของหน่วยงานการป้องกันโรคระบาดที่เกี่ยวข้อง จากการที่เทศกาลตรุษจีนใกล้เวียนมาบรรจบ ประชาชนจำนวนมากที่มีความประสงค์จะกลับสู่ภูมิลำเนา อาจนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์จากเขตพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เข้าสู่ไต้หวันด้วยความไม่ตั้งใจ ด้วยเหตุนี้ นรม.เฉินฯ จึงขอให้ทุกคนต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศ ตลอดจนเพื่อให้ทั่วโลกประจักษ์ถึงผลสัมฤทธิ์จากความมุ่งมั่นในด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน
นรม.เฉินฯ หยิบยกรายงานข้อมูลขององค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) ที่ระบุไว้ว่า ขณะนี้ โรคระบาด ASF ในจีนกำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน ไต้หวันได้รับการรับรองว่าเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ ประกอบกับรัฐบาลไต้หวันเพิ่งทำการถอนวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกรแบบดั้งเดิม (Classical swine fever) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ปี 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไต้หวันและญี่ปุ่นเป็นเพียง 2 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการระบาดของโรค ASF โดยไต้หวันคาดหวังที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศที่ปลอดเชื้อไวรัส ASF โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ และโรคอหิวาต์สุกร ภายในปี 2025 เพื่อก้าวสู่การเป็นต้นแบบในภูมิภาคเอเชีย
นรม.เฉินฯ กล่าวว่า นอกจากความมุ่งมั่นพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจตราสัมภาระพกพาและสัมภาระเช็คอินของผู้โดยสารอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือของภาคประชาชนและผู้โดยสารต่างชาติ โดยเฉพาะผู้โดยสารต่างชาติที่อาจไม่เข้าใจกฎระเบียบด้านการป้องกันโรคของไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มการประชาสัมพันธ์ จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ นรม.เฉินฯ ยังได้เข้าตรวจการณ์กลไกการตรวจสอบสัมภาระผ่านเครื่องสแกน พร้อมทั้งสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้มีการบรรจุเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าสู่กลไกการตรวจสแกนด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์เหล่านี้หรือไม่ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง แถลงว่า ทางกรมศุลกากรได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยในประเทศ ผ่านรูปแบบการวิจัยเชิงวิชาการ โดยหน่วยงานศุลกากรเป็นผู้ส่งมอบตัวอย่างภาพสแกนและเทคนิคการวิเคราะห์ จากนั้น หน่วยงานวิจัยจึงนำไปปรับใช้ในกระบวนการอัลกอริทึม (Algorithm) ของเทคโนโลยี AI สุดท้ายหน่วยงานศุลกากรก็จะนำผลวิจัยที่ได้มาทดลองใช้ในการปฏิบัติจริง ซึ่งผลมาจากความพยายามร่วมกันของกลุ่มนักวิจัย ขณะนี้กลไกการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ มีพัฒนาการที่น่าพึงพอใจ