New Southbound Policy Portal

สตาร์ทอัพแผ่นชิปวงจรรวมของไต้หวันจาก 6 แขนงใหญ่ นับร้อยราย ร่วมงานแสดงสินค้า CES 2024 สร้างบริบทใหม่ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก

คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 27 ธ.ค. 66
 
ศูนย์ Taiwan Tech Arena (TTA) เตรียมพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทางเทคโนโลยีระดับโลก (International Consumer Electronics Show, CES) ปี 2567 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Council, NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวก่อนการออกเดินทางของเหล่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพนับร้อยรายที่เตรียมพร้อมที่จะแสดงศักยภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) กระทรวงเศรษฐการ (MOEA) และกระทรวงการพัฒนาดิจิทัล (MODA) เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน โดยรัฐบาลหวังที่จะเห็นศักยภาพทางเทคโนโลยีของไต้หวัน เฉิดฉายในเวทีโลก พร้อมทั้งอาศัยโอกาสนี้ในการชักชวนผู้เชี่ยวชาญและเหล่าผู้ประกอบการ เดินทางมาร่วมสานฝันในไต้หวัน เพื่อต้อนรับโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระดับโลก
 
นายอู๋เจิ้งจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารและประธาน NSTC กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันสวมบทบาทที่น่าเชื่อถือในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยนโยบายทางเทคโนโลยีของ NSTC ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมุ่งไปสู่ทิศทางนวัตกรรมการประยุกต์ใช้แผ่นชิปวงจรรวม ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้ข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน สำแดงบทบาทที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการผลิตได้มีการย่นระยะเวลาให้สั้นลง นับตั้งแต่การออกแบบแผ่นชิปวงจรรวม (IC) ไปจนถึงการผลิตและการทดสอบก่อนปิดผนึก ประกอบกับการปรับลดคุณสมบัติในการเข้าสู่สายอาชีพดังกล่าว จึงสามารถดึงดูดให้กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วโลก กล้าที่จะเดินทางมาสานฝันในไต้หวันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถอาศัยแผ่นชิปวงจรรวมในการขับเคลื่อนนวัตกรรมอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างคุณประโยชน์เชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจโลกให้เกิดการพัฒนาควบคู่กันไป นอกจากนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ “ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน” (Taiwan Science and Technology Hub) ที่จัดตั้งโดย NSTC มีกำหนดการจัดตั้งการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “เซมิคอนดักเตอร์ กระแสโลกและไต้หวัน” (Semiconductors, Global Trends, and Taiwan) ขึ้นในระหว่างกิจกรรมแสดงสินค้า CES 2024 ในวันที่ 8 ม.ค. ปี 2567 โดยได้เชิญชวนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเซมิคอนดักเตอร์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ยังจัดให้มีแนะนำ “โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรมไต้หวัน ที่ขับเคลื่อนด้วยแผ่นชิปวงจรรวม” ด้วย
 
กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย 96 ราย ที่ครอบคลุม 6 แขนงใหญ่ ประกอบด้วย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI / Robotics) การแพทย์ดิจทัล (Digital Health) วิถีชีวิตรูปแบบอัจฉิรยะ (Smart Home) เมืองอัจฉริยะและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (Smart Cities & Sustainability) เทคโนโลยีทางกีฬา (Sport Tech) และยานยนต์อัจฉริยะ (Vehicle Tech & Advanced Mobility) แสดงให้เห็นถึงแง่มุมที่หลากหลายทางนวัตกรรมอุตสาหกรรมของไต้หวัน โดยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมจัดแสดง ครองสัดส่วนสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ครองสัดส่วนร้อยละ 28 การแพทย์ดิจิทัลครองสัดส่วนร้อยละ 20 และเมืองอัจฉริยะและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ครองสัดส่วนร้อยละ 18 ซึ่งนอกจากจะขานรับต่อ นโยบาย 6 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลักของไต้หวันแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมในยุคปัจจุบันอีกด้วย
 
แวดวงวิชาการและการวิจัยเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของเทคโนโลยีนวัตกรรมอุตสาหกรรมมาโดยตลอด โดย NSTC ได้ส่งเสริมให้ทีมนักวิจัยเริ่มต้นสร้างธุรกิจ และผนวกเข้ากับทรัพยากรและการชี้แนะของศูนย์ TTA เพื่อช่วยให้ทีมนักวิจัยเชื่อมโยงสู่เวทีโลกได้อย่างราบรื่น โดยไฮไลท์ของทีมนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เข้าร่วมในงานแสดงครั้งนี้ ประกอบด้วย บริษัท FaceHeart Corporation ที่เกิดจากการรวมตัวกันของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง ซึ่งเป็นทีมวิจัยและพัฒนาโปรแกรมตรวจวัดการเต้นของหัวใจ ที่ได้รับการรับรองด้านโปรแกรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับ Class II (Class II SaMD, Software as a Medical Device) จากสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration, FDA) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ปี 2566 ทำให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้ภาพถ่ายจากเลนส์ทั่วไปในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจและเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองจากองค์การ FDA ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดเกณฑ์มาตรฐานการแพทย์รูปแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการแพทย์ดิจิทัลแบบครอบคลุมได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ บริษัท TSGC Technologies Inc. ที่ก่อตัวขึ้นจากทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยไถหนาน ยังได้นำเสนออุปกรณ์ PV Circulator ในการเข้าจัดการกับแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือการเผาไหม้มาเป็นตัวเร่งปฏิกริยา ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำกลับมารีไซเคิล ได้สูงถึงร้อยละ 99 ถือเป็นอุปกรณ์เพียงหนึ่งเดียวในโลกที่สอดคล้องกับกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งอุปกรณ์ตัวช่วยชิ้นนี้ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการถอดแยกชิ้นส่วน และนำข้อมูลพารามิเตอร์บันทึกลงในระบบคลาวด์ พร้อมทั้งประยุกต์ใช้คุณสมบัติของ Blockchain ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขบันทึกข้อมูลได้ ในการนำเสนอแนวทางการรีไซเคิลให้สำหรับผู้ใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสินค้าประเภทนี้ถูกคาดหวังอย่างมาก ท่ามกลางกระแสโลกที่ต้องการก้าวสู่ยุคปลอดคาร์บอนที่ยั่งยืน โดยทั้งสองบริษัทดังกล่าว ต่างได้รับรางวัลนวัตกรรมโลก (CES 2024 Innovation Award)
 
Eureka Park คูหาพิเศษที่ CES จัดตั้งขึ้นสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหน้าใหม่ทั่วโลก ถือเป็นคูหานิทรรศการสตาร์ทอัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก เพื่อแสวงหากลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ และเป็นแพลตฟอร์มการจับคู่ธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทยักษ์ใหญ่หรือการควบรวมกิจการ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ศูนย์ TTA ได้ทำการจัดตั้ง  "คูหาสตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีไต้หวัน TTA" ขึ้นใน Eureka Park เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการประสานความร่วมมือและการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ระหว่างกลุ่มสตาร์ทอัพไต้หวันและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระดับโลก โดยในปีนี้ คูหาสตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีไต้หวัน TTA ได้ตอบรับคำเชิญของสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ตระเวณจัดโรดโชว์และการประชุมแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี ในระหว่างงานจัดแสดง CES 2024 เพื่อมุ่งผลักดันพลังนวัตกรรมระดับโลก และให้ความช่วยเหลือกลุ่มสตาร์ทอัพไต้หวันในการเชื่อมโยงเข้ากับบริษัทหรือแบรนด์ดังระดับโลก เพื่อขยายธุรกิจไปสู่ตลาดระดับสากลในอนาคตต่อไป