New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ม.ค. 67
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “The Economist” นิตยสารชื่อดังของอังกฤษ ด้วยการเขียนบทความพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “อะไรคือความเสี่ยงของการเลือกตั้งในไต้หวันที่กำลังจะมาถึง” (Taiwan’s coming elections: What is at stake?) โดยเนื้อหาบทความถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์นิตยสารเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา รมว.อู๋ฯ ระบุว่า จีนจงใจที่จะเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมสกัดกั้นมิให้จีนเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อร่วมธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า ตราบจนปัจจุบัน ไต้หวันได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป 7 ครั้ง และมีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศอย่างสันติ 3 ครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านกระบวนการทางประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง ไต้หวันกลับต้องเผชิญกับการข่มขู่ด้วยกำลังทหารและแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน โดยรัฐบาลจีนได้ใช้ประโยชน์จากการเปิดกว้างทางสังคมประชาธิปไตยของไต้หวัน สร้างความวุ่นวายโกลาหลผ่านสงครามลูกผสม อย่างการโจมตีทางไซเบอร์และการเผยแพร่ข่าวปลอม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า จีนกำลังพยายามทดสอบการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยมต่อไต้หวัน หากจีนประสบความสำเร็จในการทำลายค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวัน ในอนาคต จีนก็อาจพยายามเข้าแทรกแซงกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก การเลือกตั้งในไต้หวันที่เตรียมเปิดฉากขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. นี้ เป็น 1 ใน 40 รายการการเลือกตั้งที่ทั่วโลกมีกำหนดการจะจัดขึ้น ตลอดทั้งปี 2567 รมว.อู๋ฯ จึงเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมสกัดกั้นการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งจากจีนอย่างกระตือรือร้น
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ “The New York Times” เดือนธันวาคม ปี 2566 ได้อ้างอิงถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ระบุว่า จีนอาจอาศัยเทคโนโลยี AI ในการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อส่งผลกระทบต่อกลไกการเลือกตั้งของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยรมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่ตั้งอยู่แนวหน้าในการเผชิญกับการแผ่ขยายอำนาจเผด็จการของจีน จึงถูกมองว่าเป็นสนามทดสอบการแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ต่างประเทศของจีน
รมว.อู๋ฯ แสดงความขอบคุณต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวัน ทั้งในการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) หรือการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (EU) และการประชุมสุดยอดผู้นำที่แคมป์เดวิด (Camp David summit) พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกเฝ้าจับตาพฤติกรรมของจีนที่พยายามทำลายค่านิยมทางประชาธิปไตยของไต้หวัน ผ่านวิธีการแผ่ขยายอิทธิพลหรือสงครามลูกผสม