New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ยูเครน ย้ำการสร้างความร่วมมือมากขึ้น ระหว่างไต้หวัน - ยูเครน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Yanina Slyesarchuk ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ “1+1” ของยูเครน Ms. Kristina Zeleniuk ผู้สื่อข่าวด้านการเมืองและข่าวต่างประเทศ และ Ms. Alla Chyzh ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ICTV โดยสถานีโทรทัศน์ “1+1” ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของรมว.อู๋ฯ ไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ภายใต้หัวข้อ “ความกระหายของจีน : ไต้หวันจะรับมืออย่างไรต่อการโจมตีจากจีนที่อาจเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2570” และได้อัปโหลดลงบนเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ไปพร้อมกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวยูเครนเป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า แม้ว่าภัยคุกคามจากจีนต่อไต้หวันจะยังคงมีอยู่ และพฤติกรรมของรัฐบาลปักกิ่ง ก็มิสามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม พวกเราเชื่อว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จีนจะเข้ารุกรานไต้หวันในระยะอันใกล้ เนื่องจากจีนเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อหลักปรัชญาว่าด้วย “การบีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม” ดังที่ระบุไว้ในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (The Art of War by Sunzi) จีนจึงคุกคามไต้หวันกลยุทธ์ “พื้นที่สีเทา” แบบรูปผสม ทั้งการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการก่อสงครามจิตวิทยา เพื่อต้องการส่งอิทธิพลต่อตัวเลือกทางการเมืองของประชาชนชาวไต้หวัน เชื่อว่า ประชาชนชาวยูเครนคงจะตระหนักเข้าใจถึงวิธีแบบนี้ได้อย่างลึกซึ้ง
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศด้วยตนเองของไต้หวัน และความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถยับยั้งการรุกรานไต้หวันจากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความกล้าหาญของชาวยูเครนในการลุกขึ้นปกป้องประเทศชาติในระหว่างสงครามรัสเซีย - ยูเครน ได้ช่วยปลุกพลังความฮึกเหิมของภาคประชาชนชาวไต้หวัน พวกเราตระหนักดีว่า การปกป้องประเทศชาติไม่เพียงแต่จะพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากมิตรประเทศเท่านั้น ขณะนี้ ไต้หวันมุ่งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหมอย่างกระตือรือร้น แม้แต่องค์การนอกภาครัฐของเอกชน ก็ยังร่วมผลักดันการฝึกอบรมด้านการป้องกันประเทศให้แก่ประชาชน เพื่อเร่งยกระดับแสนยานุภาพการเตรียมการรับมือกับสงครามที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ในเวทีการประชุมนานาชาติที่สำคัญๆ เช่น การประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) หรือการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2566 ได้กำหนดให้สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเปิดอภิปราย ซึ่งผู้นำนานาประเทศทั่วโลกต่างแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน ด้วยความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว โดยไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคให้คงอยู่ต่อไป
 
ต่อประเด็นความเป็นไปได้ที่เสียงความคิดเห็นของภาคประชาชนจะเอนเอียงไปในทิศทางการผนวกดินแดนรวมกับจีน หลังการเลือกตั้งหรือไม่นั้น รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนชาวไต้หวันตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา ระบุให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนกว่าร้อยละ 90 ต่อต้านการผนวกดินแดนรวมกับจีน ในฐานะที่พวกเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เสียงที่มากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไปถือว่าเป็นฉันทามติร่วมกันของประชาชน รมว.อู๋ฯ ยังหยิบยกกรณีตัวอย่างของฮ่องกงมาประกอบการชี้แจงความล้มเหลวของ “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ” ในปัจจุบัน สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนชาวฮ่องกงถูกลิดรอนจนไม่เหลือชิ้นดี และหลังจากนี้ เราจะไม่เห็นการเลือกตั้งรัฐสภาที่เปิดกว้างและเป็นไปอย่างยุติธรรมในฮ่องกงอีกต่อไป จากตัวอย่างเช่นนี้ ยิ่งทำให้ชาวไต้หวันไม่สามารถยอมรับต่อ “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ” ของจีนได้เลย
 
สำหรับการประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ยูเครนในอนาคต รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า แม้ว่าไต้หวันจะยังมิได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลขึ้นในยูเครน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่สงครามเปิดฉากขึ้นในวันแรก ภาครัฐและประชาชนชาวไต้หวันก็ได้ร่วมระดมเงินบริจาค ซึ่งตราบจนขณะนี้ยอดเงินสะสมมีจำนวนรวมกว่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว และได้ทยอยส่งผ่านไปยังประเทศรายรอบที่ตั้งของยูเครน เช่น สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐสโลวักและสาธารณรัฐลิทัวเนีย เป็นต้น เพื่อช่วยฟื้นฟูสถานศึกษาและสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ โดยรมว.อู๋ฯ เชื่อมั่นว่า การที่บรรดาประเทศประชาธิปไตยให้ความช่วยเหลือยูเครน ก็เท่ากับเป็นการช่วยเหลือตนเอง และถือเป็นการช่วยเหลือไต้หวันด้วยเช่นกัน รมว.อู๋ฯ ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีโอกาสสร้างความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้น ระหว่างไต้หวัน - ยูเครนในภายภาคหน้าต่อไป