New Southbound Policy Portal

กิจกรรมประชาสัมพันธ์ “พันธมิตรเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย” ครั้งที่ 1 (AACA) เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในไต้หวัน

กระทรวงคมนาคม วันที่ 22 ม.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 มกราคม 2567 กรมการท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “พันธมิตรเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย” ครั้งที่ 1 ( Asia Archipelago Cruise Alliance Launch Ceremony , AACA) ขึ้น ณ โรงแรม Grand Mayfull Hotel Taipei โดยได้เชิญองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี ตัวแทนเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ buan ของเกาหลีใต้ สถาบันวิจัยเรือสำราญของเกาหลีใต้ กระทรวงการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ กองการท่าและกองวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจจังหวัดฟูกูโอกะ และบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมของจังหวัดโอกินาวา เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนกับเหล่าผู้ประกอบการเรือสำราญนานาชาติ 7 รายใหญ่จากทั่วโลก ประกอบด้วย Royal Caribbean , Princess Cruises , Holland America Line , Resorts World One , Sunflower, Coral Princess และ Scenic cruise ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อตลาดเรือสำราญในภูมิภาคเอเชียของกลุ่มผู้ประกอบการเรือสำราญระดับโลก รวมไปถึงศักยภาพการพัฒนาการล่องเรือสำราญแบบข้ามเกาะในภูมิภาคเอเชีย
 
นายหลินกั๋วเซี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวขณะปราศรัยว่า จากรายงานการคาดการณ์ของสมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (Cruise Lines International Association, CLIA) ระบุว่า ยอดนักท่องเที่ยวเรือสำราญทั่วโลกในปี 2567 จะมีจำนวน 35.7 ล้านคนครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมากกว่าปี 2566 ที่จำนวน 31.5 ล้านคนครั้ง คิดเป็นสัดส่วนการขยายตัวร้อยละ 13.3 แสดงให้เห็นว่า ตลาดเรือสำราญกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับกระแส “การท่องเที่ยวเชิงลึก” ได้กลายมาเป็นแนวโน้มการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ส่วนกระแสการล่องเรือสำราญแบบข้ามเกาะ ก็กำลังเป็นที่นิยมในหลายพื้นที่ทั่วโลก เนื่องจากประเทศในเอเชียมีทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลของหมู่เกาะที่มีความหลากหลาย มีหลายพื้นที่ที่เหมาะแก่การเดินทางไปสำรวจเสน่ห์ความงดงาม นอกจากนี้ ตัวแทนจากนานาประเทศข้างต้นยังได้ทยอยแสดงความคิดเห็นว่า นักท่องเที่ยวสามารถทำความเข้าใจเชิงลึกกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการชื่นชมทัศนียภาพที่งดงาม และลิ้มลองอาหารเลิศรส ผ่านโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสำรวจพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่โปรแกรมการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญขนาดกลางและขนาดใหญ่ส่วนมาก ไม่สามารถจัดหาให้ได้ และยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า การล่องเรือสำราญแบบข้ามเกาะในภูมิภาคเอเชีย เปี่ยมด้วยศักยภาพการพัฒนาในอนาคต
 
นายเย่เสียหลง อธิบดีกรมการท่า กล่าวว่า แผนผลักดัน “พันธมิตรเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย” เป็นแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นจากหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์เรือสำราญของไต้หวัน เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ เนื่องด้วยหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียมีเกาะที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงควรที่จะบูรณาการทรัพยากรเหล่านี้ พร้อมทั้งร่วมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญแบบข้ามเกาะ ผ่านรูปแบบ “ทีมนานาชาติ” แทนที่ “ทีมเอเชีย” ด้วยเหตุนี้ การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้จึงมีความแตกต่างกับรูปแบบการประชุมจากเดิม ซึ่งจะเห็นได้จากการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนแบบเผชิญหน้า (face to face) ระหว่างกลุ่มผู้ซื้อ หน่วยงานประชาสัมพันธ์ รัฐบาลท้องถิ่นในไต้หวัน แวดวงการท่องเที่ยวและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเรือสำราญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในงาน มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแบบหมุนเวียน รวมจำนวน 120 รอบ โดยหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นโอกาสความร่วมมือในอนาคตของทั้งสองฝ่ายต่อไป