New Southbound Policy Portal

รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ผู้สื่อข่าว ABC ของออสเตรเลีย เน้นย้ำ การธำรงปกป้องสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวันเป็นฉันทามติร่วมกันของชาวไต้หวัน จีนไม่มีสิทธิ์ข่มขู่ไต้หวัน

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Ms. Sarah Ferguson ผู้สื่อข่าวระดับอาวุโสรายการข่าว “7.30” ของบรรษัทกระจายเสียงแห่งประเทศออสเตรเลีย (Australia Broadcasting Corporation, ABC) โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้แจงถึงนัยแห่งการเลือกตั้งไต้หวัน สถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน และวิสัยทัศน์ทางความร่วมมือ ระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลียในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงและช่องทางออนไลน์ ในช่วงค่ำของวันเดียวกันที่ให้สัมภาษณ์ ภายใต้หัวข้อ “รมว.ต่างประเทศไต้หวันย้ำ จีนไม่มีสิทธิ์ข่มขู่ไต้หวัน” (Taiwan Foreign Minister Joseph Wu: “China has no right to threaten Taiwan)
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างโปร่งใสและเท่าเทียม ในทุก 4 ปี เพื่อเลือกผู้นำประเทศคนต่อไปและทิศทางการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ซึ่งถือเป็นแก่นแท้ของระบอบประชาธิปไตย แต่จีนที่ยึดมั่นในอำนาจเผด็จการไม่สามารถยอมรับได้ และกล่าวหาว่าไต้หวันแสวงหาความเป็นเอกราช ทั้งที่ในความเป็นจริงคือประชาชนชาวไต้หวันดำเนินชีวิตและใช้สิทธิอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตย โดยรมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า อนาคตของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยไม่ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของระบอบเผด็จการ จีนไม่มีสิทธิ์ข่มขู่ไต้หวัน
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า จีนไม่เคยเข้าปกครองไต้หวัน ไต้หวันมีประธานาธิบดีและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยภาคประชาชน มีกองทัพเป็นของตนเอง มีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติให้ออกหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ ตลอดจนมีอำนาจปกครองตนเองที่สามารถใช้ต่อต้านการรุกรานจากประเทศอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงและสถานภาพที่คงอยู่มานานหลายทศวรรษ นายไล่ชิงเต๋อ ว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ ยังได้แถลงว่า ในวาระการดำรงตำแหน่งของตนที่ใกล้เข้ามานี้ จะสืบสานนโยบายเดิมในปัจจุบันของปธน.ไช่อิงเหวินที่เป็นไปอย่างนุ่มนวลและมีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวันที่เปี่ยมด้วยสันติภาพและเสถียรภาพ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก โดยผู้นำประเทศที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย ต่างแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก ควบคู่ไปกับการแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ที่ได้รับความเห็นชอบจากเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น นอกจากไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเองแล้ว การประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันก็ยังเป็นไปอย่างลุ่มลึกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เชื่อมั่นว่าจะสามารถยับยั้งการรุกรานจากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
สำหรับประเด็นที่หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ หรือไม่ รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ในยุคสมัยของรัฐบาลทรัมป์ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้รับการยกระดับขึ้นอีกขั้น และรัฐบาลไบเดนก็ยังคงมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้พื้นฐานเดิมต่อจากรัฐบาลทรัมป์ นโยบายที่เป็นมิตรต่อไต้หวันของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของ 2 พรรคการเมืองในสหรัฐฯ รมว.อู๋ฯ เชื่อว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯคนต่อไป รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะยังคงมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ในเชิงลึกกับไต้หวันต่อไปอย่างแน่นอน
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวัน - ออสเตรเลีย ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม จึงคาดหวังที่จะเห็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของออสเตรเลียเดินทางมาเยือนไต้หวันมากขึ้น เพื่อสำแดงถึงพลังสนับสนุนที่มีต่อประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า จีนยังคงแผ่ขยายลัทธิอำนาจนิยมในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์เฝ้าจับตาต่อพฤติกรรมของจีนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนร่วมเจรจาหารือแนวทางการยับยั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยออสเตรเลียได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับอังกฤษและออสเตรเลีย (AUKUS) และ “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (QUAD)” ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลีย จึงจะเห็นได้ว่า นับวันออสเตรเลียยิ่งมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยรมว.อู๋ฯ หวังว่า ออสเตรเลียจะการสวมบทบาทที่สำคัญในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่มีเสรีภาพและเปิดกว้างต่อไปในอนาคต