New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่อิงเหวินเข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 77 ปีเหตุโศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 28 ก.พ. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนเมืองเจียอี้ เพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 77 ปีเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์ โดยนอกจากปธน.ไช่ฯ จะวางพวงหรีดเพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัยแด่เหยื่อทางการเมืองที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้แล้ว ปธน.ไช่ฯ ยังแถลงว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมอย่างมีระบบแบบแผน ตราบจนปัจจุบัน ได้มีการจัดทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ รวม 4 ฉบับ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้กอบกู้ชื่อเสียงและจัดสรรเงินชดเชยให้แก่ผูเสียหาย จวบจนปัจจุบัน มีการยื่นขออนุมัติเงินชดเชยเป็นจำนวนมากกว่า 2,000 ราย รวมมูลค่าเงินชดเชยเป็นจำนวน 4,000 ล้านเหรียญไต้หวัน นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลยังได้ผลักดันการแก้ไขข้อกฎหมายว่าด้วยข้อมูลลับทางราชการ (Political Archives Act) ซึ่งได้รับเสียงมติสนับสนุนจากพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน โดยจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมมิใช่ภาระหน้าที่ของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการจะชดใช้ความเสียหายแก่ผู้บริสุทธิ์ ที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำในยุคที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ
 
ปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรมไม่มีเส้นทางลัด ความทรงจำที่เจ็บปวดจะไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา พวกเราจึงจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางการคงอยู่ร่วมกันกับประวัติศาสตร์อย่างสันติ ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เมื่อเผชิญหน้ากับเรื่องราวในอดีต พวกเราไม่สามารถลืมเลือนได้ แต่ก็ไม่ต้องกลัวที่จะย้อนรำลึกถึง เพื่อรับมือกับทิศทางในอนาคต พวกเราจำเป็นต้องมีการพูดคุยในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาของสังคมประชาธิปไตยที่เป็นไปอย่างยั่งยืน
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ :

เหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์ เป็นการกระตุ้นความมุ่งมั่นในการแสวงหาหลักการแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนชาวไต้หวัน อย่างไรก็ตาม การปกครองแบบเผด็จการและการกดขี่ ถือเป็นการยับยั้งการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตย และผลักให้ไต้หวันถลำสู่ช่วงระยะเวลาที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ในช่วงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์
 
อดีตอันยากลำบากที่ผ่านพ้นไป ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน การที่จะรักษาบาดแผลและความเจ็บปวดให้หายดีได้นั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น เมื่อใดที่พวกเราสามารถเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงได้อย่างเปิดเผย รับฟังซึ่งกันและกัน จึงจะสามารถลบรอยแผลได้อย่างหมดจด เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อกันอย่างแท้จริง ตลอดจนเพื่อลบล้างต้นตอการแบ่งแยกในสังคมไต้หวัน ที่เกิดจากห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ และเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนชาวไต้หวันมุ่งธำรงปกป้องประชาธิปไตย และเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างสามัคคี
 
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พวกเรามุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรมอย่างมีระบบแบบแผน ในด้านการวางรากฐานทางกฎหมาย พวกเราได้ทำการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดรวม 5 ฉบับ เพื่อปูรากฐานด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมในภายภาคหน้า
 
นอกจากนี้ พวกเรายังได้จัดตั้งหน่วยงานและกลไกความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรม โดยหลังจากที่ คณะกรรมการในการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรมได้เสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจตามขั้นตอนแล้ว สภาบริหารไต้หวันก็จะรวบรวมเจ้าหน้าที่ในองค์การที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงาน เพื่อทำการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมในภายภาคหน้าต่อไป
 
บนพื้นฐานข้างต้นเหล่านี้ รัฐบาลได้จัดทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง รวม 4 ฉบับ เพื่อคืนความจริงให้กับประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการบัญญัติข้อกฎหมายว่าเพื่อจัดการเกี่ยวกับการถือครองข้อมูลและทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบของพรรคการเมือง โดยยึดคืนเป็นของแผ่นดิน พร้อมทั้งจัดตั้งมูลนิธิปฏิบัติการพิเศษเพื่อนำใช้ในด้านการกุศลและภารกิจที่เกี่ยวข้องในด้านการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรมต่อไป
 
นอกจากนี้ นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ 228 ที่ได้รับการยืนยันตัวตนและได้รับการชดเชยเป็นจำนวน 2,340 รายแล้ว มูลนิธิ 28 กุมภาพันธ์ ยังได้ค้นพบ “ผู้เสียชีวิตที่เป็นไปได้” อีกจำนวนกว่า 4,000 ราย
 
ในลำดับต่อไป ปธน.ไช่ฯ ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไต้หวัน จะมอบประกาศนียบัตรกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่ครอบครัวของเหยื่อทางการเมืองที่ล่วงลับไปแล้ว โดยในจำนวนนี้ บรรพบุรุษของ 2 ครอบครัวที่เดิมทีอยู่ในรายชื่อ “ผู้เสียชีวิตที่เป็นไปได้” ภายหลังจากที่ข้อมูลลับทางราชการได้รับเปิดเผยแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้งและพบว่าเป็นเหยื่อทางการเมืองโดยตรง จากกรณีดังกล่าวเป็นการย้ำเตือนให้พวกเราตระหนักเห็นว่า รัฐบาลยังทำอะไรได้อีกมากเมื่อต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
 
ภารกิจการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรมเหล่านี้ ได้ตีแผ่ข้อเท็จจริง ความเป็นธรรม การปลอบประโลม และการย้อนรอยความทรงจำ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การสร้างหลักประกันว่า จะไม่ยอมให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งถือเป็น 5 หลักการสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรม ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก
 
ภาคประชาสังคมไต้หวันก็ได้ร่วมอุทิศคุณประโยชน์ด้านการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรมด้วยวิธีการของตนเองอย่างกระตือรือร้นไม่แพ้กัน อาทิ “In Search of a Mixed Identity” สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 28 กุมภาพันธ์ ที่เตรียมจะเปิดฉายขึ้นในเดือนหน้าที่จะถึงนี้ รวมไปถึงเทศกาลดนตรี Gongsheng ที่เตรียมก้าวสู่ครั้งที่ 12 ในปีนี้