New Southbound Policy Portal

รมว.เติ้งเจิ้นจงเข้าร่วมหารือกับ Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และ Mr. Greg HANDS รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก

สภาบริหาร วันที่ 29 ก.พ. 67

นายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อาศัยโอกาสที่ไปเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก (WTO) เปิดการเจรจาหารือกับ Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ
 
ในระหว่างการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการเจรจา ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” พร้อมทั้งยังแสดงความชื่นชมต่อเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายที่เข้าร่วมการเจรจา ตลอดจนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเร่งเปิดการเจรจาในประเด็นแรงงาน การเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยหวังที่จะเห็นทิศทางความร่วมมือในอนาคต ปรากฎอยู่ในเนื้อความของข้อตกลงโดยเร็ววัน
 
รมว.เติ้งฯ กล่าวต่อ Ms. Chi Tai ว่า ไต้หวันมุ่งส่งเสริมให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อ้างอิงความตกลงระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เพื่อร่วมลงนามความตกลงทางการค้าที่มีผลเชิงกฎหมายกับไต้หวันโดยเร็ววัน เพื่อขับเคลื่อนให้กลไกการค้าระหว่างประเทศ มุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาที่เป็นธรรมและเปิดกว้างมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมหารือเชิงลึกกันในประเด็นปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดของอุตสาหกรรมหลายแขนง อันเกิดจากการให้เงินอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมของกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจแบบ Non-market Economy ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลไกการค้าโลก และสร้างปัญหาในการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมในสังคมโลก พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความมุ่งมั่นพยายามในการกระจายความเสี่ยงของตลาดระหว่างทั้งสองฝ่าย
 
นอกจากนี้ รมว.เติ้งฯ ยังได้ร่วมหารือกับ Mr. Greg HANDS รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จัดขึ้น ณ กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อช่วงที่ผ่านมา
 
ในระหว่างการเจรจา รมช. HANDS กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษได้ให้ความสำคัญกับการลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก” (Enhanced Trade Partnership, ETP) ระหว่างสองฝ่าย เมื่อปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นหลักชัยสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี โดยหวังที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ผ่านความตกลงฉบับนี้
 
ด้านรมว.เติ้งฯ นอกจากจะส่งผ่านคำขอบคุณที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีต่อรมช. HANDS ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการลงนามความตกลง ETP ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ อย่างราบรื่นแล้ว รมว.เติ้งฯ ยังได้ระบุความคิดเห็นที่ขานรับต่อรมช. HANDS ว่า รัฐบาลไต้หวันก็ได้กำหนดให้ความตกลง ETP เป็นพื้นฐานการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษอย่างมีแบบแผน พร้อมหวังว่า หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเปิดการเจรจาใน 3 ด้าน ประกอบด้วย “การลงทุน” “การค้าแบบดิจิทัล” และ “พลังงานหมุนเวียนและการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์” ภายใต้กรอบข้อตกลง ETP แล้วเสร็จ จะสามารถขยายประเด็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคีด้านอื่นๆ ในเชิงกว้างมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ให้เป็นไปในทิศทางเชิงลึกต่อไป
 
นอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - อังกฤษแล้ว รมว.เติ้งฯ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนและช่วยผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ซึ่ง รมช. HANDS กล่าวว่า ในระหว่างการยื่นขออนุมัติการเป็นประเทศสมาชิกใหม่ใน CPTPP ของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษต้องประสบกับเงื่อนไขข้อเรียกร้องที่เปี่ยมมาตรฐานสูงของกลุ่มประเทศสมาชิก CPTPP หากอังกฤษได้เป็นประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการ ก็จะตรวจสอบคุณสมบัติของประเทศที่ยื่นขออนุมัติ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นสูง จึงจะสามารถเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP ได้
 
ทั้งนี้ นอกจาก CPTPP และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการอภิปรายในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลกด้วย