New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 มี.ค. 67
ในวันที่ 20 ธ.ค. 2566 เมื่อครั้งที่นายหลี่ฉุน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหภาพยุโรปคนปัจจุบัน ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Sjoerd den Daas ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ (NOS) ประจำประเทศจีน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ออกสู่อากาศ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมนี้ ยังได้มีการอัปโหลดลงบนเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ NOS ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศทวีปยุโรปที่ใช้ภาษาดัตช์เป็นอย่างมาก
สำหรับข้อซักถามในประเด็นที่บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. (TSMC) ไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไต้หวันหรือไม่นั้น ผู้แทนหลี่ฯ ตอบว่า แม้ไม่มีปัจจัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน หากมองเฉพาะในมุมมองทางเศรษฐกิจและการค้า เราจะเห็นได้ว่า แผ่นชิปวงจรรวมระดับไฮเอนด์กว่ากว่าร้อยละ 90 ล้วนแต่ผลิตในไต้หวัน ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการบริหารเชิงพาณิชย์และหลักแนวคิดกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ตลอดระยะที่ผ่านมา เยอรมนี สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างเรียกร้องให้บริษัท TSMC เข้าไปตั้งโรงงานในประเทศของตน ในความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้ระบบห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก “ลดปัญหาการรวมศูนย์”
ผู้แทนหลี่ฯ เน้นย้ำว่า ข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน นอกจากจะอยู่ที่ปัจจัยทางเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความไว้วางใจต่อผู้ประกอบการไต้หวันของพันธมิตรทางการค้า ในทางกลับกัน จีนสามารถอัดฉีดงบประมาณมูลค่ามหาศาลเพื่อสร้างอาณาจักรแห่งเทคโนโลยีขึ้นมาแข่งขันได้ แต่ไม่สามารถได้รับการไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าได้อย่างแน่นอน
ในประเด็นข้อซักถามที่ว่าเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นเกราะซิลิคอน (Silicon Shield) ของไต้หวันหรือไม่นั้น ผู้แทนหลี่ฯ กล่าวว่า กุญแจสำคัญของการสกัดกั้นการรุกรานไต้หวันของจีน มิใช่แผ่นชิป แต่เป็นวิถีชีวิต ศักดิ์ศรีและค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ซึ่งนับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ผู้แทนหลี่ฯ ระบุว่า จีนต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการว่างงานในประเทศในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และการถอนทุนของกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ เป็นต้น จึงคาดว่า ความเป็นไปได้ในการโจมตีไต้หวันด้วยกำลังทหารอาจเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตาม หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในช่องแคบไต้หวัน หรือจีนใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไต้หวัน ก็จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศทวีปยุโรปและทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรที่จะประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่น ควบคู่ไปกับการทำให้จีนตระหนักถึงความสูญเสียที่จะต้องชดใช้ หากเข้ารุกรานไต้หวัน เพื่อยับยั้งมิให้จีนกระทำการใดๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะได้รับ