New Southbound Policy Portal

รมช.กต.ไต้หวันเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การจัดตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย ผ่านรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 มี.ค. 67
 
เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 13 มีนาคม ตามเวลาในกรุงไทเป รัฐบาลอินเดียได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่งในรัฐคุชราต (Gujarat) และรัฐอัสสัม (Assam) โดยในจำนวนนี้ บริษัท Powerchip Semiconductor Manufacturing Corporation ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไต้หวัน  และ Tata Electronics ผู้ประกอบการอินเดีย ได้ตัดสินใจจับมือกันจัดตั้งโรงงานผลิตแผ่นวงจรรวมขึ้นในเมืองโธเลรา (Dholera) แห่งรัฐคุชราต เป็นแห่งแรก นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “สมาคมอินเดียในกรุงไทเป” (Indian Taipei Association, ITA) เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
 
Mr.Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เน้นย้ำในระหว่างการกล่าวปราศรัยผ่านช่องทางออนไลน์ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ระหว่างอินเดีย – ไต้หวัน โดยนรม. Modi ยังได้ระบุว่า พิธีวางศิลาฤกษ์ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก “ผู้นำไต้หวัน” เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
 
รมช.เถียนฯ กล่าวปราศรัยขณะร่วมเป็นสักขีพยานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยระบุว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในหลักชัยแห่งความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย ในฐานะตัวแทนกต.ไต้หวัน และขออวยพรให้โครงการก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่น ภายใต้ช่วงเวลาของการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานและการลดทอนความเสี่ยง เชื่อว่าความร่วมมือในประเภทนี้ จะมีส่วนช่วยให้อินเดียบรรลุเป้าหมายการผลิตแผ่นวงจรรวมด้วยการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนเป็นต้นแบบการลงทุนในอินเดีย เพื่อเป็นแนวทางให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการด้านเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันรายอื่นต่อไป
 
Mr. Manharsinh Laxmanbhai Yadav ผู้อำนวยการสมาคมอินเดียในกรุงไทเป (ITA) แถลงว่า ความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - อินเดีย มีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต่อไป
 
ไต้หวันเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมสมบูรณ์ และการแบ่งงานที่เป็นไปอย่างมืออาชีพ ประกอบกับมีประสบการณ์ที่แน่นหนาในเชิงเทคโนโลยีการผลิตแผ่นวงจรรวม ส่วนอินเดียก็มีความก้าวหน้าในด้านแผ่นวงจรรวมและการออกแบบซอฟต์แวร์ ดังนั้นความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความทรหดและความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน