New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 มี.ค. 67
เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำสวิตเซอร์แลนด์ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมจัดการประชุมในหัวข้อ “ความทรหดทางเศรษฐกิจและการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน” ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ณ กรุงเบิร์น โดยเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐและตัวแทนภาคอุตสาหกรรมจากไต้หวัน สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ เข้าร่วมอภิปรายประเด็นแนวทางการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงในระบบห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่ไปกับการยกระดับความทรหดทางเศรษฐกิจ
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ นายหวงเหว่ยฟง ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสวิตเซอร์แลนด์ และ Mr. Scott C. Miller เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ซึ่งแบ่งเป็น 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ “ภูมิรัฐศาสตร์ แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน” และ “การผลิตนอกชายฝั่ง สินค้าทดแทนจากแหล่งที่เป็นมิตร และความทรหดทางเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งเชิญนายหลี่ฉุน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหภาพยุโรปและผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำเบลเยี่ยม เข้าร่วมแสดงปาฐกถาด้วย
ผู้แทนหวงฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อเผชิญกับความท้าทายอย่างวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะเงินเฟ้อและสถานการณ์โรคโควิด – 19 กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันควรประสานความร่วมมือกัน เพื่อยกระดับความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทานและความทรหดทางประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ตลอดจนจับมือกันก้าวสู่อนาคตที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ผู้แทนหลี่ฯ กล่าวขณะแสดงปาฐกถาว่า จีนยังคงอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นอาวุธในการบ่อนทำลายความสงบ ทั้งไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและลิทัวเนีย ต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันจากจีนอย่างต่อเนื่อง การบริหารธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยงทางการเมืองด้วย เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามด้านภูมิรัฐศาสตร์กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันก็ควรที่จะประสานความร่วมมือกัน เพื่อแสวงหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความมั่นคง โดยผู้แทนหลี่ฯ ได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยประสานความร่วมมือในการสกัดกั้นแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากประเทศเผด็จการ