New Southbound Policy Portal
สภาบริหาร วันที่ 25 มี.ค. 67
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิด “การฝึกอบรมนานาชาติด้านการป้องกันและปราบปรามคดีฉ้อโกงข้ามชาติ” ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) โดยการฝึกอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นที่การร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามคดีฉ้อโกงของนานาประเทศ โดยเริ่มทำการอภิปรายในเชิงลึกตั้งแต่ด้านโทรคมนาคม สินทรัพย์หมุนเวียน เทคโนโลยีดิจิทัลไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งการป้องกันและปราบปรามคดีเหล่านี้ เป็นหนึ่งในทิศทางนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมา ทีมปฏิบัติการด้านการป้องปรามอาชญากรรมได้ดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องหลายรายการอย่างต่อเนื่อง ผ่านการผนึกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่ปี 2567 มาจนถึงปลายเดือนมกราคม ปี 2568 มีการอายัดเงินของไต้หวัน มีจำนวนมากกว่า 12,000 รายการ ซึ่งรวมมูลค่าเป็นจำนวนเงินกว่า 8,210 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยในอนาคต พวกเราจะยังคงมุ่งเสริมสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนข่าวกรองและการเอื้อประโยชน์ทางกฎหมายซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพ
นรม.เฉินฯ เห็นว่า แนวโน้มและการตลาดระหว่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไปอย่างผกผันตลอดเวลา ส่งผลให้อุตสาหกรรมทุกแขนงต่างเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ความท้าทายนานารูปแบบ เนื่องจากในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการเงิน โทรคมนาคม และระบบอินเทอร์เน็ต ต่างได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นับวัน แก๊งมิจฉาชีพก็ยิ่งรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการที่เป็นมืออาชีพ และมีความเป็นสากล มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการซื้อขายแบบข้ามพรมแดน วิธีการฉ้อโกงในทุกรูปแบบ ได้แทรกซึมผ่านเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อทรัพย์สินของประชาชน ตามข้อมูลในรายงานการสำรวจของปีที่แล้ว ที่จัดทำโดยองค์กรต่อต้านการฉ้อโกงโลก (The Global Anti-Scam Alliance, GASA) และ ScamAdviser ผู้ประกอบการด้านการให้บริการข้อมูล ชี้ว่า มีประชากรโลกในสัดส่วนร้อยละ 25.5 ที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งยังส่งผลต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางการเงินของประชาคมโลกอีกด้วย
นรม.เฉินฯ ย้ำว่า การฉ้อโกงเป็นปัญหาสังคมที่ประชาชนรู้สึกเอือมระอาและเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเสมอมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อช่วงปลายปี 2565 รัฐบาลจึงได้มุ่งผลักดัน “แผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ด้านการปราบปรามการฉ้อโกงยุคใหม่ 1.0” ด้วยการยกระดับศักยภาพการสกัดกั้นการฉ้อโกงโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การฟ้องร้องในคดีฉ้อโกง การสกัดกั้น การยับยั้ง และบทลงโทษ นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลไต้หวันยังได้พิจารณาปรับปรุง “แผนปฏิบัติการการปราบปรามความผิดฐานฉ้อโกง 1.5” เพื่อรับมือกับคดีกลโกงรูปแบบใหม่และเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการเงิน โทรคมนาคม และระบบอินเทอร์เน็ต ภายใต้แนวทางรวม 3 มิติหลัก ได้แก่ “ลดการติดต่อ” “ลดความเชื่อผิดๆ” และ “ลดความเสียหาย” เพื่อเลี่ยงมิให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอก หรือการลดความเสียหายที่เกิดจากความประมาทให้เหลือน้อยที่สุด