New Southbound Policy Portal

บิดาแห่งเทคโนโลยี AI ของเยอรมนีเข้าพบประธาน NSTC ของไต้หวัน เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี

คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 8 เม.ย. 67
 
เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแนวทางตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี (Science and Technology Arrangement, STA) ที่กระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยของเยอรมนี (The German Federal Ministry of Education and Research, BMBF) และคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมลงนามไปเมื่อเดือนมีนาคม ของปี 2566 ที่ผ่านมา ทาง BMBF จึงได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ Wolfgang Wahlster ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยี AI แห่งเยอรมนี (German Research Centre for Artificial Intelligence, DFKI) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของประธานคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่เป็นประธานโครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI แบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา Dr. Kathrin Meyer หัวหน้าโครงการกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ภายใต้การดูแลของสำนักงานติดต่อประสานงานระหว่างประเทศของ BMBF ได้นำคณะตัวแทน ซึ่งรวมถึง Dr. Wahlster เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อเข้าพบนายอู๋เจิ้งจง ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTC) โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมหารือกันในประเด็นความร่วมมือด้าน AI ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนีด้วย
 
ประธานอู๋ฯ กล่าวระหว่างให้การต้อนรับคณะตัวแทน โดยชี้ว่า ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์ Taiwan AI Center of Excellence (AICoE) ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มบูรณาการแบบข้ามหน่วยงาน ที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้าในปัจจุบัน
 
โดยนอกจาก Dr. Wahlster จะแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ยังเห็นว่า ไต้หวันถือเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ โดยหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมกันประยุกต์ใช้ AI ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์และการผลิตรถยนต์ไร้คนขับ โดยในระหว่างนี้ ศาสตราจารย์ไช่จื้อหง ผู้อำนวยการศูนย์ Taiwan AI Center of Excellence (AICoE) จะหารือร่วมกับ Dr. Wahlster เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความร่วมมือแบบทวิภาคีด้านเทคโนโลยี AI ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี ในภายหน้าต่อไป
 
วัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้ ก็เพื่อทำความเข้าใจกับ “โครงการนวัตกรรมแผ่นชิปวงจรรวมของไต้หวัน” ควบคู่ไปกับการจัดการประชุมแบบทวิภาคี ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเทคโนโลยี AI และเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน นอกจากนี้ คณะตัวแทนยังมีกำหนดการเข้าเยี่ยมเยือนสภาวิจัยแห่งชาติ (Academic Sinica) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) มหาวิทยาลัยหยางหมิงเจียวทง (National Yang Ming Chiao Tung University, NYCU) ศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันในสังกัดสถาบันวิจัยและทดลองแห่งไต้หวัน (National Applied Research Laboratories, NARLabs) สถาบันเทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูง (National Center for High-performance Computing) บริษัท Inventec Corporation และบริษัท ELAN Microelectronics Corp. ด้วย