New Southbound Policy Portal

ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจาก “Project 2049 Institute”

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 เม.ย. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 เมษายน ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ คณะตัวแทนจาก “Project 2049 Institute” ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของสหรัฐอเมริกา โดยปธน.ไช่ฯ แถลงว่า วันที่ 10 เมษายนปีนี้ประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 45 ปีแห่งการบัญญัติ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล รัฐสภาและองค์การเอกชน ที่ร่วมต่อสู้เคียงคู่กับไต้หวันอย่างมุ่งมั่นเสมอมา พร้อมทั้งมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและสัมพันธไมตรีระหว่างสองฝ่ายให้เกิดความแนบแน่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังระบุว่า หลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระหว่างที่สหรัฐฯ มุ่งบรรลุคำมั่นด้านความมั่นคงที่มีต่อไต้หวัน ไต้หวันก็มุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเองควบคู่ไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยในอนาคต ไต้หวันจะจับมือกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
 
หลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้มุ่งยกระดับความสัมพันธ์ทางความมั่นคงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากจะอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน ตามที่ระบุไว้ใน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” แล้ว เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้จัดตั้งกองทุนสินเชื่อทางกลาโหมสำหรับไต้หวันอีกด้วย กอปรกับเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568” ของสหรัฐฯ ได้เสร็จสิ้นกระบวนการบัญญัติกฏหมายแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอัดฉีดทรัพยากรทางการเงินในการสนับสนุนมาตรการและข้อเสนอที่เกี่ยวกับไต้หวัน
 
ปธน.ไช่ฯ ยังได้หยิบยกกรณีตัวอย่างที่ไต้หวันมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเอง อาทิ การสร้างเรือรบภายในประเทศ รวมไปถึงเรือดำน้ำภายใต้ชื่อ Narwhal class Submarine หรือเรือลาดตระเวณประสิทธิภาพสูง รวม 6 ลำ ซึ่งล้วนพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพด้านการต่อเรือด้วยตนเองและยังเป็นการยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหมของไต้หวันด้วย
 
Mr. Randall G. Schriver ประธาน “Project 2049 Institute” ชี้ว่า “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ในความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นแพลตฟอร์มและกลไกสำคัญทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคงและการทหาร เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเล็งเห็นว่า  “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” จำเป็นต้องถูกปรับเปลี่ยนและแก้ไข อย่างไรก็ตาม พวกเราได้ก้าวผ่านภารกิจสำคัญที่เปี่ยมด้วยอุปสรรคและความท้าทาย ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จนบังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ดั่งที่ปรากฎในปัจจุบัน