New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 พ.ค. 67
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ Foreign Affairs วารสารที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ในการเขียนบทความเรื่อง “ปกป้องยูเครนก็เหมือนปกป้องไต้หวัน : โชคชะตาของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเกี่ยวพันกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้” โดยบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของวารสารข้างต้นแล้ว เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรร่วมกันสนับสนุนยูเครน ซึ่งมีส่วนช่วยในการสกัดกั้นการรุกรานของกลุ่มประเทศอำนาจนิยมเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตย ตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวันที่มีต่อประชาคมโลก
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยโลก มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น เมื่อต้องเผชิญกับการที่จีนให้การสนับสนุนทางกลาโหมต่อรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการจัดตั้ง “ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่ไร้กรอบจำกัด” ระหว่างจีน - รัสเซีย การประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก จึงยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรมอบความช่วยเหลือทางกลาโหม เศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมแก่ยูเครน อย่างเต็มกำลัง ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทราบว่า รัฐสภาของสหรัฐฯ ได้มีมติเห็นชอบต่อญัตติให้ความช่วยเหลือทางกลาโหมแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง เมื่อช่วงที่ผ่านมา
รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า การปกป้องยูเครนมีนัยยะสำคัญต่อประชาคมโลกฉันใด การธำรงปกป้องไต้หวัน ก็มีส่วนเกี่ยวพันกับประชาคมโลกฉันนั้น นอกจากปัญหาด้านความมั่นคงของไต้หวันจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย การธำรงรักษาสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน มีความสำคัญต่อการปกป้องกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐฯ ความสมดุลในภูมิภาค และการยุติการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ประการข้างต้น ส่งผลให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกมีเสถียรภาพและคงความเจริญรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน หากสถานการณ์ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์พลิกผันมามีส่วนช่วยในการขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เชื่อว่าประชาคมโลกก็จะพลอยได้รับผลกระทบในอีกหลายสิบปีตามไปด้วย
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ไต้หวันมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพในการป้องกันตนเอง ซึ่งมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด ไต้หวันเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในประชาคมโลก จุดยืนว่าด้วยการธำรงรักษาสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ไม่มีวันแปรเปลี่ยนไป มีเพียงการกำหนดให้สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นปัญหาระหว่างประเทศเท่านั้น จึงจะสามารถธำรงรักษาให้สถานภาพเดิมในปัจจุบันที่เปี่ยมด้วยเสถียรภาพคงอยู่ต่อไปได้ ความสัมพันธ์ทางความมั่นคงแบบพหุภาคี ระหว่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ประกอบกับหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS) และกรอบความมั่นคงรูปแบบใหม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปูรากฐานที่สำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาคได้
รมว.อู๋ฯ ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมใช้มาตรการต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อช่วยธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน อาทิ การประสานความร่วมมือในการต่อต้านแรงกดดันทางกลยุทธ์พื้นที่สีเทา และสงครามจิตวิทยาที่เกิดจากจีน ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือไต้หวันเข้าสู่กลไกเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิ การเจรจาครั้งที่ 2 ตาม “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) รวมไปถึงการร่วมต่อต้านการบิดเบือนข้อเท็จจริงของญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ที่จงใจสร้างขึ้นโดยรัฐบาลปักกิ่ง ตลอดจนเพิ่มจำนวนรอบการปฏิบัติภารกิจในการ “รักษาเสรีภาพในการเดินเรือ” ในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน เป็นต้น
วารสาร Foreign Affairs เป็นวารสารรายสองเดือนที่ตีพิมพ์โดยสมาคมความสัมพันธ์ทางการทูตสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในวารสารด้านกิจการระหว่างประเทศและนโยบายทางการทูตที่มีบทบาทสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งมักจะมีการยื่นเสนอข้อชี้แนะเชิงนโยบายต่อประเด็นสำคัญระดับโลก โดยกลุ่มผู้อ่านส่วนมากล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือบุคลากรทางการเมืองทั่วโลก นอกจากจะเป็นวารสารที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลสำคัญ สำหรับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลกอีกด้วย จึงเห็นได้ว่ามีบทบาทเชิงลึกที่สำคัญในระดับสากล