New Southbound Policy Portal
คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 13 พ.ค. 67
เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นายอู๋เจิ้งจง ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนออสเตรเลีย เพื่อเข้าเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม และพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และทรัพยากรระดับสูงของออสเตรเลีย โดยปธ.อู๋ฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ออสเตรเลียว่า ไต้หวัน – ออสเตรเลีย ควรที่จะลงนามความตกลงทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกัน (Science and Technology Arrangement, STA) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมอภิปรายและวางแผนมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งปี ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา นายสวีโย่วเตี่ยน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำออสเตรเลีย และ Mr. Robert Fergusson ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานตัวแทนรัฐบาลออสเตรเลียประจำกรุงไทเป ได้ร่วมลงนามกันที่กรุงแคนเบอร์รา โดยที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และทรัพยากร (DISR) ของออสเตรเลีย ต่างก็ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ส่วนทางฝ่ายไต้หวัน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จาก NSTC กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานออสเตรเลียประจำกรุงไทเป เข้าร่วมในพิธีฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ออสเตรเลียจึงกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่ร่วมลงนามความตกลง STA กับไต้หวัน โดยในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งสร้างความร่วมมือใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การผลิตเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่ทางเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญ เทคโนโลยีชีวภาพ และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
ผู้แทนสวีฯ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ไต้หวัน – ออสเตรเลียได้ยกระดับให้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามกันไปในปี 2555 เป็นความตกลงทางความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อศักยภาพด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย ภายใต้กรอบความตกลงข้างต้น ความสัมพันธ์ทางการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบทวิภาคีจะยิ่งทวีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ขอบเขตความร่วมมือก็จะเป็นไปในเชิงกว้างมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้แทนสวีฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งสองฝ่าย สามารถสร้างคุณประโยชน์สำคัญต่อประชาคมโลกในอนาคตต่อไป ด้าน Mr. Richard Samuels รองอธิบดี DISR ก็กล่าวว่า การลงนามความตกลงระหว่างสองฝ่ายในครั้งนี้ครอบคลุมในมิติต่างๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและชีวภาพ เป็นต้น โดยความตกลงในครั้งนี้ถือเป็นการวางรากฐานของความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบทวิภาคี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องต่อไป
ภายใต้การนำของปธ.อู๋ฯ NSTC ได้ใช้ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของไต้หวัน มาบรรลุแนวคิดตามนโยบายการส่งเสริมให้ไต้หวันได้รับความสนใจในเวทีนานาชาติ ด้วยการมุ่งผลักดันการลงนามความตกลงทางความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับประเทศที่มีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี เพื่อจัดตั้งกลไกและแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ในภาพรวม พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ แบบทวิภาคีในเชิงลึกต่อไป