New Southbound Policy Portal

ปธน.และรองปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แสดงปาฐกถาใน “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน” พร้อมนี้ กต.ไต้หวันชี้แจง IPAC ประกาศจัดการประชุมประจำปีในไต้หวันและแถลงการณ์ร่วมที่เป็นมิตรต่อไต้หวันของมูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตย

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 พ.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของมูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตย (Alliance of Democracies, AoD) เข้าร่วมแสดงปาฐกถาผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้าใน “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน” (Copenhagen Democracy Summit) ครั้งที่ 7 ที่มีกำหนดการจัดขึ้น ณ โรงละครแห่งชาติเดนมาร์ก (Royal Danish Theatre) ในช่วงระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤษภาคม 2567 โดยการประชุมสุดยอดดังกล่าวได้เชิญบรรดาผู้นำสำคัญของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเข้าร่วมด้วย
 
ในระหว่างการแสดงปาฐกถา ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างต่อเนื่องเสมอมา ไต้หวันมุ่งประสานความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนระหว่างประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ไม่มีภัยคุกคามหรือแรงกดดันใดๆ ที่สามารถสั่นคลอนความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการเดินหน้าสู่เวทีประชาคมโลกได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไต้หวันรับมือกับภัยคุกคามจากจีนด้วยความทรหดและกล้าหาญ ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ถือเป็นมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประชาชนชาวไต้หวันต่างตระหนักดีว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงหนทางเดียวที่ยั่งยืน เชื่อว่า การที่พวกเราประสานสามัคคีกันจะยิ่งทำให้พวกเรามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
 
รองปธน.ไล่ฯ แถลงว่า หลังขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวัน ตนจะมุ่งผลักดัน “โครงการความหวังของประเทศชาติ” ด้วยการมุ่งสร้างไต้หวันที่มีประชาธิปไตยที่เปี่ยมสันติภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ ความเจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตย โดยในอนาคต รองปธน.ไล่ฯ จะยึดมั่นในหลักการ 4 มิติหลักในการปฏิบัติภารกิจทางราชการ อันได้แก่ “เสริมสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหมและสงครามอสมมาตร” “ปรับปรุงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบห่วงโซ่อุปทาน” “มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย” และ “เสริมสร้างศักยภาพผู้นำทางความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่เป็นไปอย่างมีหลักการและคงเสถียรภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
 
รองปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า โลกที่เสรีจะไม่ยอมจำนนต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ แต่จะมุ่งเสริมสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยของตนเอง รวมไปถึงเศรษฐกิจและความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ภาคประชาชน เพื่อคงไว้ซึ่งโลกประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยสันติภาพ เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรือง
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ :

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณ Mr. Anders Fogh Rasmussen ประธานการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน ที่เชิญข้าพเจ้าเข้าร่วมแสดงปาฐกถาในกิจกรรมที่สำคัญครั้งนี้ นับตั้งแต่การกล่าวปราศรัยครั้งที่แล้ว พวกเราต้องประสบกับภัยคุกคามมากมายที่เกิดจากอำนาจเผด็จการ โดยประเทศลัทธิอำนาจนิยมได้สำแดงอิทธิพลเพื่อบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย อาศัยความหวาดกลัวและจุดอ่อนของประชาชน ในการขัดขวางการบรรลุหลักการทางเสรีภาพ นอกจากนี้ ยังได้อาศัยข่าวปลอมและกลยุทธ์พื้นที่สีเทา รวมถึงสงครามจิตวิทยา ในการสร้างความแตกแยกของภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศ
 
การประชุมในปีนี้ยังครอบคลุมไปถึงประเด็นความมั่นคงในมหาสมุทรแอตแลนติก การปกป้องประชาธิปไตยในสาธารณรัฐคอซอวอ การสร้างหลักประกันทางกลาโหมของยูเครน และแนวทางการปกป้องไต้หวันของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เป็นต้น เชื่อมั่นว่า เราสามารถกำหนดกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญเหล่านี้ ผ่านการประชุมอภิปรายในครั้งนี้
 
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังตระหนักถึงภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมอย่างกระตือรือร้น เพื่อร่วมกันปกป้องประชาธิปไตย
 
ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของภาครัฐและภาคประชาชน ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงที่เดินทางมาเยือนไต้หวันเพิ่มมากขึ้น คณะตัวแทนจากนานาประเทศต่างทยอยเดินทางมาไต้หวันเพื่อให้การสนับสนุน โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พวกเราได้ให้การต้อนรับมิตรสหายจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ รัฐสภายุโรปได้ผ่านญัตติให้การสนับสนุนเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวันในเชิงลึก ซึ่งครอบคลุมไปถึงความมั่นคงและการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชน รวมไปถึงการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ในเดือนเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐฯ ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วม เพื่อแสดงความยินดีกับการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยของไต้หวัน ตลอดจนแสดงจุดยืนว่าด้วยการสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ
 
สำหรับการแสดงปาฐกถาของรองปธน.ไล่ฯ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ :
 
อีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ ข้าพเจ้าก็จะเข้าสู่พิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้นำไต้หวันคนต่อไป พวกเรายืนอยู่แนวหน้าของการรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ประชาธิปไตยของพวกเราต้องประสบกับแรงกดดัน ทั้งข่าวปลอมที่แพร่สะพัดมาจากต่างประเทศ ภัยคุกคามทางกลาโหมและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะสร้างแรงกดดันต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนชาวไต้หวันกลับยังคงยืนหยัดปฏิเสธอำนาจเผด็จการ การที่จีนสร้างแรงกดดันต่อพวกเรา ยิ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพของพวกเรา ให้ทวีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
 
รองปธน.ไล่ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อสมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิกกลุ่มพันธมิตรจีนในรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ที่เน้นย้ำว่า ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน เป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศทั่วโลก และความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันมิได้จำกัดเพียงเฉพาะในช่องแคบไต้หวันเท่านั้น พวกเราจึงจำเป็นต้องแสวงหากลไกการสกัดกั้นภัยคุกคาม เพื่อปกป้องสันติภาพและเสรีภาพโลก ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
 
ไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจและความทรหดในการปกป้องประเทศด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของพวกเราจึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญ โลกเสรีจำเป็นต้องคว้าชัยชยนะในการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ระดับโลก เช่นเดียวกันกับที่แผ่นชิปวงจรรวมของไต้หวัน ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญทางเทคโนโลยีระดับโลก โดยไต้หวันจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีระดับโลกที่เป็นประชาธิปไตย
 
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม IPAC ยังได้เปิดฉายวิดีทัศน์ ภายใต้ชื่อ “แผนปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน” (Operation MIST) เวอร์ชันล่าสุด โดยได้เพิ่มภาพนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในวิดีทัศน์ด้วย พร้อมทั้งประกาศว่า IPAC จะจัดการประชุมประจำปีที่ไต้หวันในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งจะมีสมาชิกรัฐสภาจากทุกประเทศทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในไต้หวัน กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีที่ IPAC มีกำหนดการจะจัดการประชุมประจำปีขึ้นในกรุงไทเป และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น
 
กต.ไต้หวันให้แสดงความชื่นชม IPAC และ AoD ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน ที่ร่วมกันประกาศแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมภายใต้ชื่อ “โลกเสรีให้คำมั่นว่าจะมุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตย” โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศร่วมวิเคราะห์ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก หากไต้หวันถูกปิดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลก ร่วมสร้างคุณประโยชน์ในการสกัดกั้นภัยคุกคามจากจีน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวันในเชิงลึก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม เป็นต้น