New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 พ.ค. 67
ระยะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดาและเนเธอร์แลนด์ ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาดิจิทัล สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในการจัด “ค่ายฝึกอบรมนานาชาติว่าด้วยความยืดหยุ่นของความมั่นคงทางไซเบอร์และระบบโทรคมนาคม” ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ขึ้น ณ ไต้หวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 28 – 30 พ.ค. 2567 โดยมีตัวแทนจาก 26 ประเทศทั่วโลกและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 200 กว่าคนเดินทางมาเข้าร่วมแบ่งปันนโยบายและแนวทางการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมและความยืดหยุ่นของความมั่นคงทางไซเบอร์ อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการร่วมเผชิญหน้ากับความท้าทาย ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเชิงดิจิทัลที่มีความมั่นคง
ในระหว่างการฝึกอบรม มีตัวแทนจากคณะทูตานุทูตของกลุ่มประเทศภายใต้กรอบ GCTF และนายหวงเยี่ยนหนาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาดิจิทัลไต้หวัน เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในพิธีเปิด นอกจากนี้ ยังมี Mr. Brendan Dowling เจ้าหน้าที่ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศออสเตรเลีย ฝ่ายกิจการอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีข้อได้เปรียบ เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “กลยุทธ์ความยืดหยุ่นทางดิจิทัลที่ร่วมจัดตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภูมิภาค” นอกจากนี้ ยังมีผู้บรรยายชาวไต้หวันและชาวต่างชาติเข้าร่วมอภิปรายแนวทางการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในมิติต่างๆ เช่น นโยบาย กฎระเบียบทางกฎหมายและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ยังได้ทยอยแบ่งปันประสบการณ์ของนานาประเทศ ในหัวข้อการบริหารความเสี่ยงของความมั่นคงทางไซเบอร์ในระบบห่วงโซ่อุปทาน การเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงการบ่มเพาะบุคลากร เป็นต้น โดยในช่วงท้ายยังได้ติดต่อเชิญเหล่าผู้เข้าฝึกอบรมจากนานาชาติเข้าเยี่ยมชมสถานีดาวเทียมไต้หวันและสถานีทวนสัญญาณไมโครเวฟ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมของไต้หวันในเชิงลึกด้วย
เนื่องด้วยกระแสทางเทคโนโลยี รวมไปถึง AI และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาต่อประเด็นความยืดหยุ่นของความมั่นคงทางไซเบอร์และระบบโทรคมนาคม ไต้หวันจะมุ่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบภายใต้กรอบ GCTF เพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่เปี่ยมด้วยความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป