New Southbound Policy Portal
คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน วันที่ 5 มิ.ย. 67
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (The Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination Against Women, CEDAW) ภายใต้กรอบสหประชาชาติ (UN) ครบรอบ 45 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “การประชุมนานาชาติว่าด้วยการประกอบอาชชีพของกลุ่มสตรีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งเชิญ Prof. Ruth Halperin-Kaddari รองประธานคณะกรรมาธิการ CEDAW ภายใต้กรอบสหประชาชาติ และ Prof. Niklas Bruun อดีตประธานคณะกรรมาธิการ CEDAW เดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศในสถาบันครอบครัวและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิทธิการสร้างอาชีพของกลุ่มสตรี ตลอดจนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ รวมไปจนถึงตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ ในประเด็นสถานการณ์ล่าสุดและความท้าทายในไต้หวัน นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ชี้ว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้รับผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจจากการดำเนินการตามข้อชี้แนะที่ได้จากบทสรุปของการพิจารณาตรวจสอบระดับนานาชาติของ CEDAW ซึ่งครอบคลุมไปถึงการยกเลิกกฎหมายล่วงประเวณีที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา การบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน การจัดตั้งคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน การแก้ไขข้อระเบียบต่างๆ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการใช้ความรุนแรงทางเพศ อย่างไรก็ตาม พวกเรายังสังเกตเห็นถึงอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการไปต่อได้ อาทิ ปัญหาด้านการสร้างอาชีพของกลุ่มสตรี และด้านความเสมอภาคทางเศรษฐกิจในสถาบันครอบครัว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นเหล่านี้ พร้อมทั้งนำประสบการณ์จากนานาชาติมาใช้ในการแสวงหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนสร้างโอกาสให้เกิดปฏิรูปใหม่ได้ในเร็ววัน
ปธ.เฉินฯ กล่าวว่า อนุสัญญา CEDAW ถูกญัตติขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ร้อยละ 90 ของประเทศทั่วโลกต่างมิให้การยอมรับต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ปรากฎใน CEDAW ประกอบกับการถูกจำกัดเนื่องในช่วงกฎอัยการศึกและสถานภาพระหว่างประเทศ ทำให้ภาคประชาสังคมไต้หวันยังไม่คุ้นเคยต่อประมวลกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มสตรีระหว่างประเทศ ในปี 2543 หลังจากที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง ภายใต้การผลักดันของกลุ่มองค์กรสตรี จึงได้ส่งเสริมให้รายละเอียดใน CEDAW ถูกนำมาบัญญัติเข้าสู่วาระการประชุมอย่างเป็นทางการในไต้หวัน โดยรัฐบาลไต้หวันได้ประกาศรายงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้อนุสัญญา CEDAW ในปี 2552 เป็นครั้งแรก ตราบจนปัจจุบัน ได้มีการจัดการประชุมพิจารณาตรวจสอบรายงานแห่งชาติ CEDAW แล้วรวมจำนวน 4 ครั้ง นับเป็นอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนนานาชาติฉบับแรกที่ไต้หวันได้จัดตั้งกลไกการพิจารณาตรวจสอบขึ้น จวบจนปัจจุบันล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 15 ปี การมาพบกันของ CEDAW และกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ส่งผลให้รัฐบาลและสังคมทั้งในและต่างประเทศ มีมาตรฐานและความเข้าใจตรงกัน ในระหว่างการพิจารณาทบทวนสถานการณ์ด้านความเสมอภาคทางเพศ และมีการบัญญัติคำจำกัดความที่ครอบคลุมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับ “การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม”
ปธ.เฉินฯ เน้นย้ำว่า ทุกยุคสมัยล้วนมีความท้าทายและอุปสรคที่ต้องเผชิญหน้า มีเพียงการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและการยึดมั่นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น จึงจะสามารถบรรลุความเสมอภาคทางเพศได้ การประชุมในครั้งนี้ยังได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ มาเข้าร่วม เพื่อย้อนพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในไต้หวันที่เกิดจากการผลักดัน CEDAW มาตลอดระยะเวลา 15 ปี ควบคู่ไปกับการอภิปรายอุปสรรคและความท้าทายบนเส้นทางที่มุ่งผลักดันและส่งเสริม ถือเป็นวิธีการฉลองวาระครบรอบ 45 ปีของ CEDAW อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
Prof.Kaddari ที่เดินทางมาจากอิสราเอล ได้ร่วมแบ่งปันสถานการณ์ความคืบหน้าในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศในสถาบันครอบครัว ภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของคู่สมรส โดย Prof.Kaddari ชี้ว่า การก้าวเข้าสู่ชีวิตสมรส เป็นเรื่องปกติในช่วงวัยชีวิตของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ ความไม่เสมอภาคทางเพศในสถาบันครอบครัว จึงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มสตรีอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้
Prof.Bruun ที่มาจากฟินแลนด์ ได้หยิบยกกรณีศึกษาระดับสากล มาร่วมแบ่งปันในประเด็นสิทธิสตรีในแวดวงการประกอบอาชีพ โดย Prof.Bruun ย้ำว่า ระบบการศึกษาของประเทศชาติมีความสำคัญต่อสิทธิการสร้างอาชีพของกลุ่มสตรีเป็นอย่างมาก มีเพียงการสร้างหลักประกันด้านระบบการศึกษาของกลุ่มสตรีและเด็กผู้หญิง จึงจะสามารถเสริมสร้างให้เกิดหลักประกันทางสิทธิในการสร้างอาชีพของกลุ่มสตรีได้
Prof.Bruun กล่าวด้วยว่า กลุ่มประเทศสมาชิก CEDAW หลายประเทศ ต่างประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางอัตราค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยระหว่างชาย - หญิง ซึ่งไต้หวันก็ไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ จึงคาดหวังที่จะเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ โดยอ้างอิงจากกรณีศึกษาที่เด่นชัดในระดับสากล อาทิ เมื่อเดือนพฤษภาคม พศ. 2566 สหภาพยุโรป (EU) ได้มีมติเห็นชอบต่อญัตติด้านความโปร่งใสของค่าตอบแทนและกลไกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างหลักการแห่งค่าตอบแทนที่เท่าเทียม ระหว่างชาย – หญิง ที่ได้รับจากการทำงานในประเภทเดียวกัน